145816 0
Getting your Trinity Audio player ready...

“นายพลากร สุวรรณรัฐ  องคมนตรี” ติดตามโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรบ้านห้วยต้า อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามพระราชเสาวนีย์ “พระพันปีหลวง”  รับฟังบรรยายสถานการณ์น้ำในเขื่อนสิริกิติ์ รับฟังภาพรวมการส่งเสริมอาชีพและคุณภาพชีวิตราษฎรผ่านโครงการศิลปาชีพ กลุ่มทอผ้า แกะสลักและจักสานเครื่องเงิน โครงการกองทุนเรือพระราชทาน โครงการยุ้งฉางข้าวพระราชทาน และโครงการบ่อเพาะเลี้ยงกบนา เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารและรายได้ให้แก่ชุมชน ความพยายามในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรอย่างยั่งยืน เน้นการพึ่งพาตนเองและการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน

145814 0 145821 0145820 0 145822 0 145823 0145818 0

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2568 เวลา 09.30 น. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมคณะอนุกรรมการและที่ปรึกษา เดินทางลงพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมี นายศุภรัชต์ อินทราวุธ รองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายวัชระ เสือดี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน นายธีรพงษ์ บุญศัพย์ ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรม นายพฤกษ์ เรืองไวทย ผู้อำนวยการโครงการชลประทานอุตรดิตถ์ นายเทพนิมิต สิงหพันธ์ หัวหน้าฝ่ายบริหารจัดการน้ำ สำนักชลประทานที่ 3 รวมถึงเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมติดตามการดำเนินงาน ณ เขื่อนสิริกิติ์ ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา

ในการนี้ นายประสิทธิ์ อุปชิตร ผู้อำนวยการเขื่อนสิริกิติ์ บรรยายสรุปเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำและการดำเนินงานของเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งเป็นเขื่อนดินขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ ไทย สร้างขึ้นภายใต้โครงการพัฒนาลุ่มน้ำน่าน เดิมชื่อ “เขื่อนผาซ่อม” กั้นแม่น้ำน่าน ที่ไหลลงมาจากอำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน เดิมอยู่ในความดูแลของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายหลังได้ติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงาน และมอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบดูแลต่อไป ทั้งนี้พื้นที่เหนือเขื่อนเป็นแอ่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์

145827 0 145824 0 145826 0 145828 0 145830 0145829 0

ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระนามาภิไธย “เขื่อนสิริกิติ์” เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2511 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต และเสด็จพระราชดำเนินรัฐพิธีเปิดเขื่อนสิริกิติ์อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2520 โดยมีพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

การก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์แบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนตัวเขื่อนและองค์ประกอบ กับส่วนโรงไฟฟ้าและองค์ประกอบ ทั้งนี้ การก่อสร้างตัวเขื่อนและองค์ประกอบ ดำเนินการโดยกรมชลประทาน เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2511 ส่วนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและองค์ประกอบดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2511 มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 3 ชุด กำลังผลิตชุดละ 125,000 กิโลวัตต์ รวมกำลังผลิต 375,000 กิโลวัตต์ โรงไฟฟ้าและองค์ประกอบได้แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2517 ปัจจุบัน มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 4 ชุด กำลังผลิตชุดละ 125,000 กิโลวัตต์ รวมกำลังผลิต 500,000 กิโลวัตต์ หลังจากงานก่อสร้างตัวเขื่อนและโรงไฟฟ้า เสร็จเรียบร้อยแล้วกรมชลประทาน ได้มอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รับผิดชอบในการควบคุมดูแลรักษา

เขื่อนสิริกิติ์แห่งนี้มีความสูงจากฐานราก 113.60 เมตร ความยาวสันเขื่อน 810 เมตร ความกว้างสันเขื่อน 12 เมตร ความจุอ่างเก็บน้ำ 9,510 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่กักเก็บน้ำ 13,130 ตารางกิโลเมตร หรือ จำนวน 8,206,250 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 260 ตารางกิโลเมตร ช่วยผลิตพลังงานไฟฟ้าปีละประมาณ 1,000 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง จัดสรรน้ำเพื่อการเพาะปลูกในลุ่มน้ำน่านและทุ่งเจ้าพระยา รวมถึงช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ภาคกลางจนถึงกรุงเทพมหานคร เขื่อนสิริกิติ์เป็นเขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อ่างเก็บน้ำมีความจุมากเป็นอันดับ 3 รองจากเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนภูมิพล

145815 0 145816 0145831 0 1145825 0 1 145832 0 1

ช่วงบ่าย คณะองคมนตรีเดินทางไปยังโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรบ้านห้วยต้า หมู่ 4 ตำบลนางพญา อำเภอท่าปลา ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการส่งเสริมอาชีพและคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่ โดยมีศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพบ้านห้วยต้าเป็นกลไกสำคัญ โครงการนี้สืบเนื่องมาจากพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อรับฟังภาพรวมการดำเนินงานของโครงการฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2300 ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2509–2510 เมื่อมีการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ ทำให้บางพื้นที่ถูกน้ำท่วม ราษฎรบางส่วนอพยพลงใต้ และบางส่วนกลับขึ้นไปตั้งถิ่นฐานใหม่จนกลายเป็นชุมชนถาวร

ปัจจุบันบ้านห้วยต้ามีการส่งเสริมอาชีพและคุณภาพชีวิตราษฎรผ่านโครงการศิลปาชีพตามพระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เช่น กลุ่มทอผ้า แกะสลัก และจักสานเครื่องเงิน พร้อมทั้งมีโครงการสำคัญในพื้นที่ อาทิ โครงการกองทุนเรือพระราชทาน โครงการยุ้งฉางข้าวพระราชทาน และโครงการบ่อเพาะเลี้ยงกบนา เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารและรายได้ให้แก่ชุมชน โครงการนี้จึงเป็นความพยายามในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรบ้านห้วยต้าอย่างยั่งยืน โดยเน้นการพึ่งพาตนเองและการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน

Facebook Comments Box

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า