
Getting your Trinity Audio player ready...
|
“ชาวบ้านดง พญาแมน” แห่ทวงเงินปุ๋ย! โครงการ SML 280,000 บาท ล่องหนหายตัว กลางเวทีประเมินผลงานผู้ใหญ่บ้าน ในรอบ 4 ปี “รุมจวกผู้ใหญ่บ้าน” ไม่เหมาะดำรงตำแหน่ง บีบคั้นผู้ช่วยให้ลาออกกองทุนเงินล้าน หลังไม่อนุมัติเงินกู้ให้ชาวบ้าน แต่คณะกรรมการยอมให้กู้ ทำเสียหน้าลาออกจากคณะกรรมการฯ พาลบีบให้ผู้ช่วยลาออกด้วย “ถูกปฏิเสธ” ไล่ผู้ช่วยออกจากตำแหน่ง ชาวบ้านอัดบริหารงานขัดแย้ง ไม่ถูกกับกำนันและนายกพญาแมน “ปลัดอำเภอ” เตรียมนำผลการปฏิบัติหน้าที่ผู้ใหญ่บ้าน พร้อมผลการประเมินที่ประชุมส่งมอบนายอำเภอ ทราบผลภายใน 15 วัน ชาวบ้านเตรียมยื่นหนังสือร้องเรียนบริหารงานไม่โปร่งใส
เมื่อเร็วๆนี้ ที่ศาลาการเปรียญวัดบ้านดง หมู่ 3 บ้านดง ต.พญาแมน อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ นายถิรธรรม เกษมเรืองวิชชญ์ ปลัดอำเภอพิชัย เป็นประธานในการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 3 นายฉลอม แย้มสรวน ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่พุทธศักราช 2457 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2551 มีบทบัญญัติกำหนดให้ผู้ใหญ่บ้านต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุไม่ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ นับตั้งแต่วันทื่ได้รับการแต่งตั้ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องกำหนดให้ราษฎรในหมู่บ้านมีส่วนร่วมในการประเมินผลการปฎิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านด้วย
เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประเมิน ผลการปฎิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านพ.ศ.2559 อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ จึงกำหนดการประชุมประชาคมราษฎร เพื่อคัดเลือกกันเองจากตัวแทนกลุ่มต่างๆ เพื่อเป็นตัวแทนในการรับฟังความคิดเห็นของราษฎร เพื่อนำมาพิจารณาประ กอบการประเมินผลตามระเบียบ สมาชิกในครอบครัวที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี และเป็นผู้มีสิทธิเลือกผู้ใหญ่บ้านเข้าร่วมประชุม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการประชุมที่ศาลาการเปรียญวัดบ้านดง มีชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 3 ทยอยเดินทางเข้ามาลงทะเบียนเพื่อทำการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 3 นายฉลอม แย้มสรวน เป็นจำนวนมาก โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองนำเอกสารแบบฟอร์มเอกสารการประเมินรับฟังความคิดเห็นของราษฎร เพื่อประกอบการประเมินผลการปฎิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน พ.ศ.2559 นำแจกจ่ายให้กับประชาชน จำนวน 203 คน ที่มาลงทะเบียนได้ร่วมกันประเมิน
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับประเด็นการรับฟังความคิดเห็นตามเอกสารแบบฟอร์มที่นำแจกจ่ายให้ประชาชนที่เข้าร่วมประชุมนั้น แบ่งออกเป็นข้อคำถาม 3 ด้าน รวม 38 ข้อ ประกอบด้วย 1.ด้านการปฎิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน จำนวน 20 ข้อ 2.ด้านคุณลักษณะของผู้ใหญ่บ้าน จำนวน 10 ข้อ และ 3.ด้านความพึงพอใจ จำนวน 8 ข้อ มีผู้ประสงค์อยากทำแบบประเมินเพียง 128 คน เป็นไปตามระเบียบข้อกฏหมายที่ต้องมีผู้เข้าร่วมประเมินไม่ต่ำกว่า 20 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังเสร็จชาวบ้านที่เข้าร่วมการประชุมตอบคำถามในเอกสารแบบฟอร์มการประเมินรับฟังความคิดเห็นของราษฎร เพื่อประกอบการประเมินผลการปฎิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านเสร็จสิ้นพร้อมนำส่งให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เพื่อรวบรวมที่ได้รับสรุปเป็นข้อมูลส่งมอบให้กับทางอำเภอพิชัยและคณะกรรมการประเมินผลได้รับทราบ เพื่อดำเนินการตัดสินผลการประเมินในครั้งนี้ว่า นายฉลอม แย้มสรวน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 3 ผ่านการประเมินผลหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ขณะเดียวกัน นายถิรธรรม ปลัดอำเภอพิชัย ได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้สะท้อนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฎิบัติหน้าที่ของ นายฉลอม แย้มสรวน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ในเชิงข้อร้องเรียนให้ นายถิรธรรม ปลัดอำเภอพิชัย ได้รับทราบในที่ประชุม โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมสลับกันขึ้นพูดกล่าวในเชิงข้อร้องเรียนหลายประเด็น อาทิ กองทุนเงินล้านหรือกองทุนหมู่บ้าน ที่ชาวบ้านต้องการขอกู้เงินแต่ถูกปฎิเสธจากผู้ใหญ่บ้าน แต่ทางคณะกรรมการให้กู้ ทำให้ผู้ใหญ่บ้านต้องลาออกจากคณะกรรมการกองทุน เกิดความขัดแย้งกันภายในกองทุนหมู่บ้าน มีการบีบคั้นให้ผู้ช่วยฯ ลาออกจากคณะกรรมการกองทุน ผู้ช่วยไม่ยอมลาออกจากคณะ กรรมการกองทุน ไล่ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านให้ลาออกทั้งที่ทำงานดี, การบริหารงานมีความขัดแย้งหรือไม่ถูกกันกับ กำนันตำบลในพื้นที่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพญาแมน พาลทะเลาะกับชาวบ้านในพื้นที่ ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเป็นผู้นำของหมู่บ้านต่อไป
“ชาวบ้านได้กล่าวถึงเรื่องเงิน SML ที่ผู้ใหญ่บ้านคนก่อนดำเนินการเรื่องปุ๋ยในตัวเงินประมาณ 200,000 บาท จนมีผลกำไรถึง 280,000 บาท กระทั่งมีการสานงานสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันเข้ามาบริ หารงานเงินส่วนนี้สูญไปเลย ต้องการทราบว่าเงินจำนวน 280,000 บาท ที่บริหารงานกันมาสูญไปไหน ซึ่งเงิน SML เป็นเงินของหลวง ชาวบ้านเรียกร้องให้มีการนำเงินกองทุน SML จำนวน 280,000 บาท กลับคืนมาให้กับชาวบ้าน พร้อมเตรียมยืนเรื่องทวงถามกับทางอำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”
นายถิรธรรม ปลัดอำเภอพิชัย กล่าวว่า การประชุมราษฎรในพื้นที่หมู่ 3 ต.พญาแมน วันนี้ เป็นการประชุมเพื่อประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ ปี พ.ศ. 2559 กระทรวงมหาดไทยกำหนดให้ต้องมีการประเมินผู้ใหญ่บ้านดำรงตำแหน่งทุก 4 ปี ในการประเมิน 1 ครั้ง เพื่อเป็นการตรวจสอบและเป็นการให้ประชาชนสะท้อนถึงการปฏิบัติหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านเพื่อการพัฒนาและการทำงานของผู้ใหญ่บ้านต่อไป ซึ่งผลประโยชน์ก็จะเกิดกับประชาชน
นายถิรธรรม กล่าวว่า การประเมินผลการปฎิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านครั้งนี้ มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมประชุม จำนวน 203 คน โดยมีชาวบ้านต้องการทำแบบประเมินผล จำนวน 123 คน ตามระเบียบกฏหมายกำหนดไว้ว่า ต้องมีผู้ประเมินไม่น้อยกว่า 20 คน ซึ่งเป็นไปตามที่กฏหมายกำหนด
“ หลังเสร็จสิ้นการกรอกเอกสารแบบประเมินผลการปฎิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนที่เข้าร่วมประชุมสะท้อนความคิดเห็นให้กับผู้ใหญ่บ้านได้รับทราบว่า การปฏิบัติหน้าที่ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านแสดงความคิดเห็นทั้งด้านบวกและด้านลบ สุดท้ายแล้วก็จะรวบรวมข้อมูลที่สะท้อนออกมาให้ผู้ใหญ่บ้านทราบ สำหรับชาวบ้านที่เข้ามาสะท้อนความคิดเห็นในเชิงข้อร้องเรียน ทางอำเภอไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้แจ้งให้กับชาวบ้านที่ร่วมสะท้อนความคิดเห็นในครั้งนี้ด้วยว่า สามารถนำพยานหลักฐานมาแจ้งให้ทางอำเภอได้รับทราบ เนื่องจากทางอำเภอจะมีขบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป
การพิจารณาผลการปฎิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านจะมีด้วยกัน 3 ส่วน 1.ผลการปฏิบัติหน้าที่ในรอบ 4 ปีของผู้ใหญ่บ้าน 2.การประเมินผลจากประชาชนในวันนี้ 3.อำเภอจะพิจารณาในรูปแบบของคณะกรรมการโดยนายอำเภอพิชัยเป็นประธาน สำหรับผลการพิจารณาทางอำเภอจะแจ้งให้ประชาชนได้รับทราบภายใน 15 วัน เนื่องจากต้องใช้เวลาในการสรุปผล ในส่วนของประชาชนชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านหรือมีข้อเรียนเรียนสามารถนำเอาพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริงมาปรึกษากับนายอำเภอหรือร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ หรือร้องเรียนที่ฝ่ายกลุ่มงานของฝ่ายบริหารงานอำเภอที่ดูแลเรื่องของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งทางอำเภอได้เปิดช่องทางเหล่านี้เอาไว้ให้ ด้วยการนำเอาพยานหลักฐานไปปรึกษาหารือพูดคุยกันก่อน ซึ่งข้อเท็จจริงยังต้องมีการพิสูจน์กันและดำเนินการตามกฏหมายนั้นต่อไป.” นายถิรธรรม กล่าว