Getting your Trinity Audio player ready...
|
ครั้งแรกอุตรดิตถ์ รอบ 30 ปี พ่อเมืองรับเรื่องร้องเรียนถึงที่ สอบผู้ใหญ่บ้าน 7 ข้อกล่าวหา บริหารงานไม่โปร่งใส ส่อทุจริตโกงเงินวัด ค่าน้ำประปา เงินบุญกองข้าวเปลือก เงินปรับปรุงเมรุและเงินเผาศพ ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพลข่มขู่รังแกชาวบ้าน หลังชาวบ้านไม่เชื่อใจนายอำเภอตั้งกรรมการสอบใช้เวลานาน ผู้ว่ากล่าวตักเตือนให้หยุดพฤติกรรมรังแกลูกบ้าน พร้อมตั้งกรรมการสอบความจริง ขณะที่ชาวบ้านเตรียมยื่นเรื่องถอดถอนออกจากตำแหน่ง เงินคือจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง เหตุไม่มีการลงหลักฐาน เกิดการปรักปรำไปมา อุทาหรณ์ให้กับหมู่บ้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลาการเปรียญสำนักสงฆ์ล้านช้าง(วัดห้วยร้อยกา) หมู่1 ต.ม่วงเจ็ดต้น อ.บ้านโคก จ.อุตรดิตถ์ นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ เดินทางมารับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่ กรณีนายกิ่งเพชร โยธาสอน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่1 ถูกกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่ไม่โปร่งใส ใช้อำนาจหน้าที่ส่อไปในทางที่ทุจริตกรณีเงินวัดหรือสำนักสงฆ์ของหมู่บ้านและเรื่องอื่นๆหลังจากร้องเรียนกับทางอำเภอบ้านโคก โดยนายวันชัย เกตุแก้ว นายอำเภอบ้านโคก ได้ชี้แจงต่อชาวบ้านในเบื้องต้นว่า มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้วและอยู่ระหว่างสอบสวน หากพบผิดผู้ใหญ่บ้านจะต้องถูกตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรง โทษปลดออก-ไล่ออก โดยใช้เวลานานกว่า 6 เดือนถึงจะเสร็จ เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา สร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้านว่าใช้เวลาในการสอบนานเกินไป ชาวบ้านพร้อมจะบุกไปที่ศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้มีการตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดขึ้นมาเพื่อสอบสวนในเรื่องนี้ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ต้องเดินทางมายังสำนักสงฆ์ล้านช้าง เพื่อรับทราบปัญหาและเรื่องราวทั้งหมดด้วยตนเอง นับเป็นครั้งแรกที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ลงพื้นที่มารับเรื่องร้องเรียนกล่าวหาผู้ใหญ่บ้านบริหารงานไม่โปรงใสกับชาวบ้านด้วยตนเองถึงพื้นที่ ทั้งซักถามและสอบสวน ในรอบ 30 ปีที่ไม่เคยมีผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ท่านใดได้ลงพื้นที่รับเรื่องราวของทุกข์จากขาวบ้านในพื้นที่พร้อมสอบสวนปากคำด้วยตนเอง ถือเป็นบุญยิ่งใหญ่กับชาวบ้านหมู่1 บ้านม่วงเจ็ดต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระมหาภัทรอภิญญาภรณ์ อาภสฺสโร เจ้าคณะตำบลม่วงเจ็ดต้น ผู้ดูแลสำนักสงฆ์ล้านช้าง ให้การต้อนรับ พร้อมชาวบ้านเกือบ 100 คน นั่งรออยู่ในศาลาการเปรียญ พระมหาภัทรอภิญญาภรณ์ ได้ยื่นเอสารจำนวน 1 ชุด ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ หลักฐานเบื้องต้นเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่1 ปฏิบัติหน้าที่ไม่โปร่งใส ใช้อำนาจหน้าที่ส่อไปในทางที่ทุจริตกรณีเงินวัดหรือสำนักสงฆ์ของหมู่บ้านและเรื่องอื่นรวม 7 ข้อ ประกอบ ด้วย 1.เงินบริจาคก่อสร้างองค์พระรอบสำนักสงฆ์ (วัด) 2.ตรวจสอบเงินเมรุตั้งแต่เป็นผู้ใหญ่บ้านมา เก็บเงินจากชาวบ้านแล้วไม่มีการชี้แจงรายรับ-รายจ่าย ใช้ทำอะไรบ้าง 3.เงินค่าน้ำประปา เก็บจากชาวบ้านไปไม่มีการชี้แจงให้ชาวบ้านรับรู้ ยอดเงินเก็บได้เท่าไหร่ ใช้จ่ายเท่าไหร่ เหลือเท่าไหร่ 4.เงินเยียวยารักษาโควิด เป็นโครงการของรัฐบาลที่ขอมาช่วยเหลือชาวบ้านและเยียวยาปากท้องของชาวบ้าน รับมาเท่าไหร่ ใช้จ่ายส่วนใดบ้าง ไม่มีการชี้แจง 5.เงินทำบุญกองข้าวเปลือกตามประเพณีของทุกปี เก็บรวบรวมเงินเอาไว้เอง โดยทางวัดและคณะกรรมการไม่มีส่วนรู้เห็น ได้เงินจำนวนเท่าไหร่ ใช้จ่ายไปเท่าไหร่และเหลือเท่าไหร่ ไม่เคยชี้แจงให้ชาวบ้านทราบ 6.เงินบริจาคของชาวบ้านภายในหมู่บ้านเพื่อเทพื้นหน้าเมรุ รับเงินบริจาคไปแล้วไม่เคยชี้แจงให้ชาวบ้านทราบ 7.เงินหมู่บ้านอาสาพัฒนาป้องกันตนเอง (อพป.) ของชุมชนในหลายปีที่ผ่านมา
นางเสวียน บุตรที ส.อบต.ม่วงเจ็ดต้น ได้ลุกขึ้นยืนพร้อมกล่าวให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ทราบว่า ชาวบ้านห้วยน้อยกา ได้ยื่นหนังสือร้องทุกข์ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566 ให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 จำนวน 7 ข้อ พร้อมแนบเอกสารหลักฐานให้กับทางอำเภอบ้านโคกแล้ว ได้รับคำชี้แจงจาก นายวันชัย เกตุแก้ว นายอำเภอบ้านโคก เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 การสอบสวนเอาผิดทุจริตต่อหน้าที่ของ นายกิ่งเพ็ชร โยธาสอน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่1 ใช้เวลานานเกินกว่าชาวบ้านจะรับได้ ยังไม่มีข้อสรุปถึงระยะเวลาการสอบสวนเอาผิดที่ชัดเจนว่า จะสิ้นสุดเมื่อไหร่สร้างความสงสัยแคลงใจให้ชาวบ้านทุกคนเชื่อว่า มีความพยายามให้การช่วยเหลือประวิงเวลาในเรื่องนี้ลากยาวออกไป ด้วยความไม่เชื่อใจของชาวบ้านในหมู่บ้าน จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ แต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดเพื่อสอบสวนเอาผิดผู้ใหญ่บ้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีตัวแทนชาวบ้าน อาทิ น.ส.กัญญากร เกตุกาญจน์ นางอภิศรา ธนากรรฐ์ นายเสวียน ยั่งยืน อดีตผู้ใหญ่หมู่1 นางเสวียน บุตรที ส.อบต.ม่วงเจ็ดต้น นางรักษิณา สตรอมแมน และ พระมหาภัทรอภิญญาภรณ์ กล่าวรายละเอียดเกี่ยวกับพฤติกรรมความไม่โปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่ บ้าน และอาจเข้าข่ายทุจริตต่อหน้าที่ โดยมีนายกิ่งเพ็ชร โยธาสอน ผู้ใหญ่บ้าน พร้อมด้วยผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน นั่งรับฟังรายละเอียดข้อกล่าวหาจากชาวบ้านในครั้งนี้ ต่อหน้าผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์และนายอำเภอบ้านโคก นายกตัญญู ทาต่อย ปลัดอำเภอบ้านโคก รับผิดชอบปกครองดูแลพื้นที่ม่วงเจ็ดต้น เข้าร่วมรับฟังข้อร้องเรียนกล่าวหาผู้ใหญ่บ้านในครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้ ตัวแทนชาวบ้านยังได้กล่าวถึงมีการล่าลายเซ็นเพื่อสนับสนุนให้ผู้ใหญ่บ้านอยู่ต่อ ด้วยการเอารายชื่อเด็กพร้อมลายเซ็นเด็กที่มีอายุ 17 ปี และยังมีอายุไม่ถึง 20 ปี ชาวบ้านต้องการถอนรายชื่อสนับสนุนออกก็ถูกปฏิเสธ รวมถึงมีการนำรายชื่อพร้อมลายเซ็นคนที่ไม่ได้อยู่ภายในหมู่บ้านไปลงชื่อสนับสนุนให้ผู้ใหญ่บ้านอยู่ต่อ เป็นการปลอมแปลงเอกสาร ชาวบ้านต้องการถอนชื่อออกก็ไม่ให้ถอน ทั้งที่ผู้ใหญ่บ้านทำงานไม่โปร่งใสในการทำงาน ที่ผ่านมาหมู่บ้านเกิดปัญหาความวุ่นวายไม่สงบและความไม่เรียบร้อยเพราะผู้ใหญ่บ้านไม่ได้รับผิดชอบในหน้าที่ แต่บกพร่องต่อหน้าที่ นอกจากนี้ ตัวแทนชาวบ้านยังได้กล่าวเสริมว่า ผู้ใหญ่มีพฤติกรรมทำตัวเหมือนอันธพาลใช้อำนาจในการข่มเหงชาวบ้าน ตั้งกลุ่มมาเฟียขึ้นมาบนวัดนำพรรคพวกเป็นกลุ่มแว้นมอเตอร์ไซด์ เพื่อมาข่มเหงรังแกโยมสายบุญอุปถัมภ์วัด ขณะดูแลวัดเพียงลำพัง
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หลังจากตัวแทนชาวบ้านได้กล่าวถึงพฤติกรรมของผู้ใหญ่บ้านในแต่ละข้อกล่าวหาไปแล้ว นายศิริวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ชี้แจงให้ตัวแทนชาวบ้านเกือบ 100 คน ที่มานั่งฟังในพื้นที่ศาลาการเปรียญสำนักสงฆ์ล้านช้างได้เข้าใจว่า การทำงานเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินเงินทองของส่วนรวมจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการเข้ามาดูแลตั้งแต่แรก เมื่อมีการปล่อยปะละเลยไม่มีการตั้งคณะกรรมการให้ครบถ้วน จึงทำให้กลายเป็นประเด็นว่า มีการใช้เงินถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง รวมถึงหลักฐานที่จะต้องนำมาตรวจสอบ เวลาอำเภอหรือจังหวัดออกคำสั่งเสร็จแล้วถูกศาลยกเลิกคำสั่งนั้น ทำให้เสียความน่าเชื่อถือ จึงทำให้การสอบสวนมันนานและเยอะ ประเด็นเรื่องประปาหมู่บ้านและเรื่องเงินปรับปรุงเมรุ เงินเผาศพที่ได้รับจากเจ้าภาพ จะให้นายกตัญญู ทาต่อย ปลัดอำเภอบ้านโคก ผู้รับผิดชอบปกครองดูแลพื้นที่ม่วงเจ็ดต้น เป็นประธานสอบผู้ให้เงินมาพร้อมหลักฐานรูปถ่ายเงินที่ให้มามีจำนวนเท่าไหร่ การรับฟังต้องฟังสองด้านตามกระบวนการยุติธรรม เรื่องเงินวัดฟังแล้วมีหลักฐานผู้ใหญ่บ้านให้การยอมรับมีหลักฐานเซ็นลายมือชื่อเอาไว้ โดยยอมรับสภาพหนี้และชดใช้คืนให้กับทางวัด
ผู้ว่าราชการจังหวัด สั่งการให้มีคณะกรรมการหมู่บ้านจัดทำบันทึกการชดใช้หนี้ให้กับทางวัด ภายใน 60 วัน ต้องหาเงินมาจ่าย หากผู้ใหญ่เบี้ยวไม่จ่ายเงินก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยมอบหมายให้ปลัดอำเภอบ้านโคกที่ได้รับมอบหมายไปดำเนินการ รวมถึงเงินบุญกองข้าวเปลือกและพฤติกรรมข่มขู่รังแกชาวบ้านด้วย ทั้งนี้ นายศิริวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้กล่าวตักเตือนผู้ใหญ่บ้านที่ถูกชาวบ้านกล่าวหาเรื่องข่มขู่ ข่มเหงรังแกชาวบ้าน จะต้องให้ละเลิกหรือไม่ให้กระทำพฤติกรรมดังกล่าวอีก นับเป็นครั้งแรกของจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดลงพื้นที่รับเรื่องราวร้องทุกข์และสอบสวนคู่กรณีเป็นผู้ใหญ่บ้านด้วยตัวเอง
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกด้วยว่า สำหรับการยื่นถอดถอนผู้ใหญ่บ้านกรณีที่ชาวบ้านเห็นว่า ไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งอีกต่อไป ตามระเบียบมีอยู่ว่าหากไม่พอใจ ประชาชนก็สามารถเข้าชื่อเสนออำเภอให้พิจารณาถอดถอนออกจากตำแหน่งโดยมีกระบวนการตามระเบียบของการถอดถอนผู้ใหญ่บ้าน ก็ให้ใช้กระบวนการนี้ เมื่อลงชื่อแล้วถึงเกณฑ์ตามที่กำหนดก็พ้นจากตำแหน่ง หากไม่ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดก็ไม่พ้นจากตำแหน่ง เป็นเรื่องทั่วไปที่ชาวบ้านสามารถมีส่วนร่วม ปกติไม่ค่อยมีการเข้าชื่อถอดถอนผู้ใหญ่บ้าน ต้องขอเวลาให้ปลัดอำเภอบ้านโคกไปศึกษาดูเรื่องรายละเอียดและทำ ความเข้าใจและดำเนินการให้ถูกต้อง หากดำเนินการไม่ถูกต้องก็เสียเวลาอีกกรณีหลักฐานไม่ครบ ทั้งนี้ ในส่วนชาวบ้านได้เตรียมยื่นเรื่องถอดถอนผู้ใหญ่บ้านออกจากตำแหน่ง หลังจากปลัดอำเภอบ้านโคกที่เกี่ยวข้องลงมาชี้แจงทำ ความเข้าใจกับชาวบ้าน ถึงวิธีการและขั้นตอนการยื่นเรื่องและวิธีการถอดถอนให้ชาวบ้านได้รับทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นายศิริวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นวันนี้ 1 เกิดจากความบาดหมาง ความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน 2เกิดจากเอกสารหลักฐานไม่ครบสมบูรณ์จึงเป็นฉนวนทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน เหตุที่เกิดข้อพิพาทกันนั้นเกิดจากเงินบำรุงวัดที่จะนำมาพัฒนาวัด ตนได้ให้คำแนะนำให้ผู้ใหญ่บ้านนำเงินส่วนที่รับปากชาวบ้านมาพัฒนาวัด นำมาคืนให้กับวัดเพื่อจะได้ดำเนินการส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยกำหนดระยะเวลา 60 วัน นับจากที่ได้มีการบันทึกข้อตกลงกับทางคณะกรรมการหมู่บ้าน เป็นเงินจำนวน 70,000 บาท คงไม่เกินกำลัง ที่ผ่านมาอาจไม่พอใจซึ่งกันและกันจึงทำให้เกิดเรื่องขึ้น หวังว่าเรื่องนี้คงจบด้วยดีเพราะเป็นเงินที่ต้องนำมาสร้างวัด ตอนสร้างคงสร้างด้วยความไม่เข้าใจมันร้อน เดี๋ยววัดก็จะร้อน ถ้าเข้าใจกันวัดก็จะเป็นที่สงบร่มเย็นของหมู่บ้านต่อไป ส่วนที่เหลือเป็นข้อกล่าวหาทั่วไป ต่างฝ่ายต่างต้องหาหลักฐานมายืนยันไม่เช่นนั้นจะเป็นการใช้ความรู้สึก ทุกอย่างต้องให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ได้มอบหมายให้ปลัดอำเภอประจำตำบลได้ดำเนินการในส่วนที่หาหลักฐานมาพิสูจน์ว่า “ผิดหรือไม่ผิดอย่างไร” ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่ชัดเจน ข้อกล่าวหา 6 -7 ประเด็นต้องว่ากันด้วยหลักฐาน ถ้าฝ่ายหนึ่งไม่มีหลักฐานก็เป็นข้อปรักปรำ ถ้าเราไม่มีหลักฐาน ต่อไปในการทำงานของหมู่บ้าน ก็ต้องทำให้มีหลักฐานทุกอย่าง ก็จะไม่เกิดลักษณะบาดหมางเช่นนี้เกิดขึ้นอีก เรื่องนี้จะเป็นอุทาหรณ์ ทำให้หมู่บ้านอยู่ด้วยกันอย่างสันติสุข
“ส่วนเรื่องการถอดถอน ทางกฎหมายให้มีสิทธิ์ในการเสนอ ในการให้ผู้ใหญ่บ้านพ้นจากตำแหน่งอยู่แล้ว อันนี้เป็นขบวนการปกติ ถ้ามีการรวบรวมผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้เกินกึ่งหนึ่งก็พ้นจากตำแหน่งเป็นไปตามวิถีของกฎหมาย ชาวบ้านสามารถทำได้ รวบรวมถึงก็พ้น รวมรวมไม่ถึงก็ไม่พ้น ซึ่งไม่ได้มีแค่จังหวัดอุตรดิตถ์ มีเกือบทั่วทุกแห่งในประเทศไทย ถ้าตราบใดที่ผู้นำท้องที่ผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำชุมชน ทำงานแบบไม่มีหลักธรรมาภิบาล ทำงานแบบไม่มีเหตุและผลก็จะสร้างความขัดแย้ง ยกตัวอย่างที่นี่ สืบเนื่องมาจากบอกว่ามีการรับเงินจากผู้บริจาค แล้วไม่มีการลงหลักฐานว่า มีการรับเงินจริงหรือไม่จริงและจำนวนเท่าไหร่ ทำให้เป็นข้อปรักปรำซึ่งกันและกัน ผู้ใหญ่ก็ปฏิเสธว่าไม่ได้รับ แต่ชาวบ้านบอกว่ารับ แต่หลักฐานไม่มี เมื่อไม่มีหลักฐานจะไปลงโทษทันทีก็ไม่ได้ จึงกลายเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า เรื่องเงินเรื่องทองเป็นจุดเริ่มต้นของการขัดแย้งในพื้นที่ ต้องให้ทุกแห่งระมัดระวัง มันไม่ใช่แค่หมู่บ้านนี้เท่านั้น ในองค์กรท้องถิ่น องค์กรภาครัฐ ก็มีปัญหาในเรื่องลักษณะนี้คือ การไม่มีการกำกับดูแล การไม่มีการชี้แจงหรือประชาสัมพันธ์การใช้จ่ายเงินให้เป็นที่แพร่หลาย สุดท้ายก็เกิดการขัดแย้งขึ้นมาได้”.