Getting your Trinity Audio player ready...

อลังการ! “ไหลแพไฟเฉลิมพระเกียรติ พิธีขอบคุณพืชพันธุ์ธัญญาหารและสายน้ำ” ตื่นตากับพลุไฟ แพ 7 หลัง พุ่งสู่ท้องฟ้า สวยงามตระการตา ฝีมือ อปท. 7 แห่ง ผ่าน 5 ท่าน้ำ นักท่องเที่ยวทั่วสารทิศ แห่ชมอย่างเนืองแน่นสองฝั่งแม่น้ำน่าน เศรษฐกิจหมุนเวียนสะพัด

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2566  ที่บริเวณท่าน้ำน่าน หน้าวัดวังแดง หมู่ 3 ต.วังแดง อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ นายชัยศิริ  ศุภรักษ์จินดา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นประธานปล่อยแพ ในงานประเพณีไหลแพไฟเฉลิมพระเกียรติและพิธีขอบคุณพืชพันธุ์ธัญญาหารและสายน้ำ และเนื่องวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราชบรมนาถบพิตร วันชาติหรือวันพ่อแห่งชาติ

อำเภอตรอน มีแม่น้ำน่านไหลผ่านประชาชนได้อาศัยน้ำจากแม่น้ำน่าน เพื่ออุปโภค-บริโภค และน้ำมาทำการเกษตรเพาะปลูกพืช-เลี้ยงสัตว์ น้ำจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีพและวิถีชีวิตของประชาชน อันเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงประชาชนอำเภอตรอนและชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ ประชาชนทุกคนพร้อมใจกันจัดงานประเพณีไหลแพไฟเฉลิมพระเกียรติและพิธีขอบคุณพืชพันธุ์ธัญญาหารและสายน้ำ เพื่อแสดงออกความจงรักภักดีที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นการขอบคุณพืชพันธุ์ธัญญาหารและสายน้ำที่นำความอุดมสมบูรณ์มาสู่พี่น้องชาวอำเภอตรอน ทำให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่สงบ ร่มเย็น ตามแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

สำหรับการจัดงานประเพณีไหลแพไฟเฉลิมพระเกียรติและพิธีขอบคุณพืชพันธุ์ธัญญาหารและสายน้ำ จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2541 เป็นเพียงแพรูปจำลองเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ แพเดียว ต่อมาในปี 2542 ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราชบรมนาถบพิตร ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ทางอำภอตรอนจึงได้กำหนดให้งานประเพณีไหลแพไฟเฉลิมพระเกียรติฯ จัดขึ้นเป็นประจำทุกวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี และเป็นงานประเพณีที่สำคัญตลอดมา จากนั้นมีขบวนแพไฟเฉลิมพระเกียรติเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และตลอด 2 ริมฝั่งแม่น้ำน่าน มีประชาชนและนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าร่วมชมความสวยงามของแพไฟและความยิ่งใหญ่อลังการของการตกแต่งแพไฟที่สวยงามเพิ่มขึ้นทุกปี สร้างความสุข ความภาคภูมิใจ สร้างรายได้ให้กับประชาชนในชุมชนพื้นที่เพิ่มมากขึ้นตลอดมาถึงปัจจุบัน นับเป็นปีที่ 23 ที่ชาวอำเภอตรอน โดย อปท. 7 แห่ง พร้อมหน่วยงานราชการมีส่วนร่วมกันจัดงานประเพณีไหลแพไฟนี้ขึ้นมา กิจกรรมดังกล่าวถูกงดจัดไปเป็นเวลา 2 ปี เนื่องด้วยสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดในประเทศไทย

การจัดงานไหลแพไฟเฉลิมพระเกียรติ พิธีขอบคุณพืชพันธุ์ธัญญาหารและสายน้ำแล้ว เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของอำเภอตรอน ให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นอันดีงาม อาหารพื้นบ้าน ผ้าทอและสินค้า OTOP ให้คนทั่วไปได้รับรู้และรู้จักเพิ่มขึ้น เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ให้มีเงินหมุนเวียนสะพัดประชาชนมีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว ทั้งนี้ นายชัยศิริ  ศุภรักษ์จินดา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้มอบเงินสนับสนุนการจัดกิจกรรมงานประเพณีไหลแพไฟเฉลิมพระเกียรติและพิธีขอบคุณพืชพันธุ์ธัญญาหารและสายน้ำ เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท ให้แก่ นายวินัย ระนาดเสนาะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังแดง ไว้ใช้จ่ายในกิจกรรมดังกล่าว เพื่อเป็นการส่งเสริมการจัดงานให้คงอยู่คู่กับลูกหลาน และสร้างเศรษฐกิจพร้อมกับการท่องเที่ยวให้กับคนในพื้นที่ต่อไป

แพไฟจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 7 อปท.ประกอบด้วย เทศบาลตรอน  เทศบาลตำบลบ้านแก่ง อบต.บ้านแก่ง อบต.วังแดง อบต.ข่อยสูง อบต.น้ำอ่าง และ อบต.หาดสองแคว รวมทั้งสิ้น จำนวน 7 หลัง  แพไฟหลังแรก อบต.วังแดง ชื่อแพ เอกองค์อมรินทร์ เป็นแพนำร่อง หัวแพและท้ายแพ เป็นรูปนางสุวรรณมัจฉาตัวแพเป็นปีนักษัตร 2566 ปีเถาะ หรือปีกระต่าย มีพระบรมฉายาลักษณ์ ในหลวง ร.๙ ตราราชวงศ์จักรี พระพรหม สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช-พระยาพิชัยดาบหัก เสาชิงช้า รถตุ๊ก ตุ๊กท้ายแพเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ ในหลวงรัชกาลที่ 10,  ตามด้วย อบต.น้ำอ่าง ชื่อแพ นวมินทรมหาราช ซึ่งเป็นแพประธาน ตัวแพเรือรูปสวรรณหงส์ ประกอบด้วยรูปพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง รัชกาลที่9 และตราประจำพระองค์, แพ อบต.ข่อยสูง ชื่อแพ ปราชญ์แห่งแผ่นดิน, อบต.บ้านแก่ง ชื่อแพ อัครศิลปิน หัวแพเป็นรูปพญานาค ตัวแพเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ ในหลวงรัชกาลที่9 แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพด้านดนตรี พระราชกรณียกิจด้านต่างๆ, อบต.หาดสองแคว ชื่อแพภูมินทร์ภัทรราชัน หัวแพเป็นรูปพญานาค ตัวแพเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ ในหลวงรัชกาลที่9 พร้อมด้วย เทวดาและช้างคชสาร 2 ตัว, เทศบาลตำบลบ้านแก่ง ชื่อแพ คุ้มเกล้าประชาสุขสันต์ หัวแพเป็นรูปหนุมานชูธง ตัวแพประกอบด้วยรูปสะพานสลิง เอกลักษณ์ของเทศบาลตำบลบ้านแก่ง พระพุทธรูปอกแตก วัดบ้านแก่งใต้ ตรงกลางแพเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ ในหลวงรัชกาลที่ 9  ส่วนท้ายแพเป็นรูป พระราชกรณียกิจของในหลวง ร.9, เทศบาลตำบลตรอน ชื่อแพ ราชันแห่งราชาหัวแพเป็นรูปหนุมาน ตัวแพเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ ในหลวงรัชกาลที่9 ทรงทอดพระเนตร รัชกาลที่ 10 แสดงให้เห็นถึงพระราชกรณียกิจด้านต่างๆ

แพทั้ง 7 หลังนี้ เคลื่อนตัวจากท่าน้ำวังแดงเป็นจุดแรก ไหลเคลื่อนไปยังท่าน้ำ ลานอเนกประสงค์เทศบาลตำบลตรอน, ท่าน้ำ อบต.บ้านแก่ง, ท่าน้ำเทศบาลตำบลบ้านแก่ง ไปจนถึงท่าน้ำวัดหาดสองแคว และขบวนแพไฟทั้งหมดจะจอดอยู่ที่ ท่าน้ำวัดหาดสองแคว เป็นอันสิ้นสุด ตลอดสองฝั่งที่แพไฟทั้ง 7 หลังไหลผ่านนั้น จะมีนักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศจำนวนมาก เฝ้ารอชมขบวนไหลแพไฟผ่าน ท่าน้ำทั้ง 5 แห่ง สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้พบเห็นการประดับไฟ ลวดลายตัวอักษรพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ถูกตกแต่งอยู่บนแพอย่างสวยงาม มีพลุไฟจุดจากแพพุ่งสู่ท้องฟ้า สร้างความสวยงามและความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวอย่างมาก

นอกจากได้ชมการประดับไฟ ลวดลายตัวอักษร พระราชกรณียกิจของพระองค์ รวมถึงพลุไฟที่จุดจากแพแล้ว ไฮไลน์ของงานคือแพไฟทุกลำจะต้องลอดสะพานสลิงหรือสะพานแขวน เมื่อมาถึงท่าน้ำลายริมแม่น้ำน่าน เทศบาลตำบลบ้านแก่ง มีความสูงจากแม่น้ำเพียง 6 เมตร แพไฟแต่ละหลัง ถูกตกแต่ง ด้วยความสูง 7-8 เมตร มีความยาวกว่า 40 เมตร ทำให้หลายคนสงสัยว่า แพไฟจะผ่านลอดสะพานสลิงแห่งนี้ไปได้อย่างไร สุดท้ายมีคำตอบ แพไฟทุกหลังพับย่อตัวลงมาต่ำกว่า 6 เมตร เมื่อใกล้ถึงสะพานสลิง และเมื่อผ่านพ้นสะพานไปแล้วการย่อตัวพับลงมาจะถูกดันกลับไปเหมือนเดิม เพื่อล่องตามแม่น้ำน่านไปยังจุดหมายสุดท้าย ที่ท่าน้ำวัดหาดสองแคว.

Facebook Comments Box

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า