Getting your Trinity Audio player ready...
|
“เขื่อนแก่งเสือเต้น”ต้องดู! ผู้เสียสละที่ดินอุดมสมบูรณ์ สร้างเขื่อนสิริกิติ์ 54 ปี ไร้เอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกิน ไร้โฉนด ต้องทนทุกข์ทรมาน ขนาดไหน ใคร่วอนกราบตีน กราบเท้า ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ บำบัดทุกข์ บำรุงสุขดูแลสนใจพวกเราบ้าง เราเป็นคนไทย มีบัตรประชาชน มีใบสำมะโนครัว “นายกสมพร ท่าปลา” ยื่นเรื่องขอนุญาตถึงสำนักงานทรัพยฯจังหวัดแล้ว รออนุมัติและส่งเรื่องต่อนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน พร้อมนำงบทำถนนคอนกรีตพ่วงทั้งตำบล 11 โครงการ
เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 พื้นที่หมู่ 10 บ้านห้วยหลามเห็ด ตำบลท่าปลา อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ นายประมวล ขันเกตุ ตัวแทนชาวบ้านพร้อมชาวบ้านได้รวมตัวกันภายในหมู่บ้าน นำปากกาสีแดง สีน้ำเงินมาเขียนบนแผ่นเศษกระดาษสีน้ำตาล ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ด้วยข้อความว่า 54 ปี ผู้เสียสละที่ดินสร้างเขื่อนสิริกิติ์ ยังลำบากอยู่, อยากได้ถนนคอนกรีต, 13 หลังคาเรือน ต้องการความเจริญ, 54 ปี ทำไม ทอดทิ้งเราให้ลำบาก ทุกวันนี้, อยากมีน้ำประปาใช้, นายอำเภออยู่ไหน ชาวบ้านเดือดร้อน, ผู้ว่าฯ สนใจพวกเราบ้าง, พร้อมทั้งโชว์บัตรประจำตัวประชาชนและสมุดสำเนาทะเบียนบ้าน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พร้อมตะโกนว่า “เราเป็นคนไทย ทอดทิ้งเราทำไม” ร้องเรียนร้องทุกข์ กรณีประสบปัญหาความเดือดร้อนจากถนนชำรุดและไม่มีน้ำกินน้ำใช้ ชาวบ้านทั้ง 13 หลังคาเรือน กว่า 50 ชีวิต ส่วนหนึ่งอยู่อาศัยพื้นที่แห่งนี้ มาตั้งแต่บรรพบุรุษนานเกือบ 70 ปี และส่วนหนึ่งยอมเสียสละที่ดินอันอุดมสมบูรณ์ของตนเองบนพื้นที่ดินท่าปลาเดิม เพื่อการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ ตั้งแต่ปี 2514 จนถึงปัจจุบันนี้ เป็นเวลานานถึง 54 ปี สำหรับผู้ที่เสียสละที่ดินเพื่อการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ ได้รับการจัดสรรที่ดินจากนิคมลำน้ำน่านสร้างตนเอง คนละ 10-15 ไร่ ตามนโยบายของรัฐบาล
ราษฎรที่อาศัยอยู่เดิมและผู้ที่เสียสละที่ดินในการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ ต่างอพยพเข้ามาอยู่พื้นที่แห่งนี้ตั้งแต่ยังไม่มีการประกาศพื้นที่เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ได้รับความเดือดร้อนไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดินเป็นของตัวเอง กระทั่งมีการประกาศพื้นที่แห่งนี้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ทับพื้นที่ที่ทางนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน จัดสรรที่ดินให้กับชาวบ้าน ที่ดินแห่งนี้ไม่มีถนนคอนกรีต ไม่มีไฟฟ้า ไม่น้ำประปาใช้ ต้องอาศัยน้ำจากธรรมชาติ ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนไม่มีไฟฟ้าใช้ ได้ร้องเรียนผ่านสื่อ ขอให้ภาครัฐช่วยติดตั้งเสาไฟฟ้าและพร้อมสายไฟเข้าถึงพื้นที่ในหมู่บ้าน กระทั่งมีหน่วยงานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเข้ามาติดตั้งเสาไฟฟ้าให้ทันที ช่วงสมัยเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา
ปัจจุบันนี้ ยังคงได้รับความเดือดร้อนเรื่องที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์เป็นของตัวเอง ทั้งเอกสารสิทธิ์ที่ดิน น.ค.1 ของนิคมลำน้ำน่านสร้างตนเอง และเอกสารสิทธิ์โฉนดที่ดินเป็นของตัวเอง ทั้งนี้อยู่มานานกว่า 70 ปีแล้ว ทุกวันนี้ในหมู่บ้านยังไม่มีถนนคอนกรีตใช้ภายในหมู่บ้าน รวมถึงน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภค ตามสิทธิ์ของประชาชนคนไทย ทั้งที่หมู่บ้านแห่งนี้อยู่ห่างจากถนนราดยางแอสฟัลติก ร่วมจิต-ท่าปลา เพียง 2 กิโลเมตร และห่างจากตัวอำเภอเพียงแค่ 5 กิโลเมตร สร้างความลำบากให้กับทุกคนในหมู่บ้าน ที่ต้องออกไปทำมาหากิน รับจ้าง ค้าขายและนักเรียนต้องไปโรงเรียน
นางนัยนา แก้วนาคแนว ชาวบ้านที่อาศัยอยู่เดิมเมื่อ 70 กว่าปีที่ผ่านมา มาตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ยาย กล่าวว่า ที่ดินทำมาหากินปู่ ย่า ตา ยาย ให้มาตั้งแต่ดั่งเดิมและเสียชีวิตไปเมื่อ 70-80 ปี ได้ทิ้งที่ดินไว้ให้ลูกหลานทำมาหากิน ลูกหลานก็ได้ทำมาหากินบนพื้นที่ดินว่างเปล่าแห่งนี้ โดยที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ใดเลย ขอสิ่งอำนวยความสะดวกถนนหนทาง น้ำประปาหรือสิ่งที่หน่วยงานภาครัฐ ควรสร้างให้กับประชาชนตามสิทธิ์พึงมีพึงได้ในฐานะที่เป็นคนไทย ก็ถูกปฏิเสธอ้างว่าเป็นพื้นที่นิคมสร้างตนเองลำน้ำน่านทับซ้อนกับป่าไม้หรือป่าสงวนแห่งชาติ หน่วยงานภาครัฐก็ไม่เคยเหลียวแลเข้ามาช่วยเหลือสักอย่าง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ก็เงียบ นายอำเภอท่าปลา ก็ไม่เคยมาดูแลสอบถามสารทุกข์สุขดิบแถมยังต่อว่าอีกเมื่อเรียกร้องอะไรไป ก็ต้องอยู่และทำกินโดยที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ใดบนแปลงที่ดินอยู่อาศัยแบบนี้ เป็นที่ดินแบบลอยๆ
อยากให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ลงมาดูแลพวกเราบ้าง อย่าไปทอดทิ้งพวกเรา นายอำเภอก็เช่นกันควรหันมาดูแลพวกเราบ้าง ลงพื้นที่ให้พูดคุยกับชาวบ้าน อยากได้น้ำประปา อยากได้ถนนขอไปตั้งหลายปี ก็ได้รับการปฏิเสธอ้างติดป่าสงวนแห่งชาติทับซ้อนกับที่ดินนิคมสร้างตนเองฯ ไม่รู้จะไปพึ่งพาอาศัยใครได้ ต้องอาศัยพึ่งพาสื่ออย่างเดียวให้ช่วยดูแล เราเป็นคนไทย บัตรประชาชนเรามี ทะเบียนบ้านสำมะโนครัวเราก็มี ทำไมต้องทอดทิ้งเรา
ทุกวันนี้ชาวบ้านต้องทนความลำบากไม่มีน้ำประปาใช้ ต้องหาท่อน้ำไปต่อจากข้อต่อหรือบ่อพักน้ำจากโครงการอ่างน้ำรี ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลร่วมจิต ซึ่งอยู่ห่างไกลหมู่บ้านออกไปประมาณ 2.5 กิโลเมตร หรือ 2 กิโลครึ่ง ต่อท่อน้ำเข้มาใช้ภายในหมู่บ้าน น้ำที่ต่อมาใช้มีไม่เพียงพอกับทุกหลังคาเรือน เนื่องจากโครงการอ่างน้ำรี ปล่อยน้ำให้ใช้เพียงแค่สัปดาห์ละ 1 วัน และต้องหาถังน้ำสำรองเก็บไว้ น้ำที่ต่อท่อมาใช้ต้องสลับเวลากันเปิดปิดวาวน้ำระหว่างต้นน้ำกับปลายน้ำ เพราะท่อที่ต่อจากข้อต่อหรือบ่อพักน้ำโครงการอ่างน้ำรีมาขนาดเล็กไม่ใช่ท่อขนาดใหญ่มาตรฐาน เปิดแรงท่อจะแตกสร้างความลำบากให้กับชาวบ้านทุกหลังคาเรือนที่ไม่มีน้ำใช้อย่างสะดวกสบายเหมือนกับหมู่บ้านอื่น เราจึงอยากมีน้ำประปาใช้เหมือนกับหมู่บ้านอื่นบ้าง
นายลำ จันทราทิพย์ ชาวบ้านผู้เสียสละที่ดินทำกินอันอุดมสมบูรณ์ เพื่อการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ ให้คนทั้งประเทศได้มีไฟฟ้าใช้ กล่าวว่า ตนและครอบครัวเสียสละที่ดินให้มีการสร้างเขื่อน และอพยพจากที่ดินเดิมมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2514 เข้ามาอยู่ในพื้นที่ดินอยู่อาศัยนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน ตำบลร่วมจิต ปากทางแซดเดิ้ล และได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินในหมู่บ้านห้วยหลามเห็ด หมู่ 10 ตำบลท่าปลา จำนวน 13 ไร่ ในพื้นที่แห่งนี้ได้รับการจัดสรร รวม 85 ราย ทุกวันนี้ไม่ได้รับการดูแลจากหน่วยงานนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับเรา ปล่อยให้ผจญกับความลำบาก ตั้งแต่ที่ได้อพยพมาในปี 2514 ซึ่งชาวบ้านที่เสียสละที่ดินทำกินเดิม เพื่อให้มีการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ มีทั้งหมด 5 ตำบล อาทิ ตำบลร่วมจิต ตำบลท่าปลา ตำบลจริม ตำบลร่วมจิต และตำบลน้ำหมัน ยังคงขาดพื้นที่บางส่วนที่ยังไม่ได้รับเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกินมาถึงทุกวันนี้ ทั้งหมดจำนวน 1,013 ราย รวม 66,200 ไร่
สิ่งที่ลำบากคือ หน่วยงานภาครัฐได้นำไม้สักมาให้ชาวบ้านปลูกเพื่อเป็นไม้เศรษฐกิจ ปลูกตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 แต่ผืนที่ดินมีการประกาศพื้นที่เป็นป่าสงวนแห่งชาติทับซ้อนกับที่ดินนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน ส่งผลทำให้ผู้ต้องการซื้อไม้สักที่ปลูกได้อายุและพร้อมที่จะตัดขายไม่สามารถที่ตัดขายได้ เนื่องจากผู้ตัดเกี่ยงว่าเป็นพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกินหรือเป็นป่าสงวน ทำให้ไม่สามารถตัดต้นสักขายได้เลยสักต้นเดียว ลำบากที่สองถนนสายนี้ ยังไม่เป็นถนนคอนกรีต เป็นถนนลูกรังหน้าฝนลำบากมาก ฝนตกทำถนนเป็นหลุมเป็นบ่อรถวิ่งไม่ได้ ขอความเป็นธรรมกับทุกหน่วยงาน อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเข้ามาดูแลเรื่องถนนให้หน่อย สงสารพวกผมเถอะครับ ลำบากจริงๆ หน่วยงานนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รับปากว่าจะดูแล 2-3 อาทิตย์ จนถึงปัจจุบันนี้เป็นปีแล้วยังไม่เห็นทำอะไรเลย เราเป็นคนไทยและเป็นผู้อพยพด้วย ถูกไล่ออกมาจากที่ดินเดิมในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ ทำไมทำให้พวกผมต้องลำบากขนาดนี้ ที่ดินเดิมอยู่อาศัยนั้นอุดมสมบูรณ์มากเลย มีคนละ 30-40 ไร่ ทางนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่านมาจัดที่ดินทำกินให้ 13 ไร่ ก็ยังไม่สำเร็จเลย พื้นที่ป่าไม้มาประกาศทับที่ดินนิคมกลายเป็นพื้นที่ป่าไม้ หน่วยงานนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่านกับป่าไม้ ไม่พูดคุยกันปล่อยคาราคาซัง ทางป่าไม้ก็บอกที่นิคม ทางนิคมก็บอกว่าที่ป่าไม้ ตนก็มีบัตรสมาชิกนิคมอยู่และมีทุกครอบครัว ตอนนี้ถือเอกสาร น.ค.1 หนังสือรับรองเป็นที่ดินของรัฐอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ตามเงื่อนไขของนิคม ห้ามจำหน่าย จ่าย โอน
นายประมวล ขันเกตุ ชาวบ้านในพื้นที่หมู่บ้านห้วยหลามเห็ด กล่าวว่า เข้ามาอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ ตั้งแต่ยังไม่มีการตัดถนนผ่านเส้นเขื่อนดิน บ้านสามร้อยเมตร บรรพบุรุษพามาอยู่ บรรพบุรุษได้เสียชีวิตไปถึง 2-3 คนแล้ว เดิมอยู่ข้างนอกได้รับผลกระทบจึงขยับเข้ามาอยู่ข้างใน ที่อยู่กัน 13 หลังคาเรือนเกิดจากผลกระทบ คนที่อยู่ดังเดิมได้แต่งงานกับคนที่อพยพ ถนนหนทางลำบาก ลูกหลานเรียนจบกันไปหลายรุ่นแล้ว ถนนไม่เจริญ บางครั้งพาลูกหลานไปโรงเรียนต้องหอบต้องหิ้วขี่โก่งกันไป ขับขี่รถมอเตอร์ไซด์ไปก็ล้มทำให้ไม่ได้ไปโรงเรียน ความทุกข์ยากความทรมานลำบากมาก ร้องเรียนไปหน่วยงานราชการฝ่ายปกครอง ฝ่ายบริหาร ปฏิเสธให้ความช่วยเหลือทำให้ต้องอยู่อย่างลำบาก อดอยากปากแห้ง ฝนตก ถนนขาดไม่มีโอกาสได้รับการช่วยเหลือ ต้องช่วยกันทำสะพาน น้ำประปาที่ใช้ก็ต้องต่อมาจากโครงการอ่างน้ำรีต้องเก็บเงินต่อใช้เองมาจากตำบลร่วมจิต ไม่มีหน่วยงานราชการใดให้การช่วยเหลือ 13 หลังคาเรือนเก็บหลังละ 1,000 ก็ยังไม่พอ รถแม็คโครไม่มีต้องใช้จอบขุด ร้องขอความช่วยเหลือไป ก็ถูกปฏิเสธให้การช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการ แล้วลูกหลานจะทำอย่างไร “พวกผมไม่ใช่คนไทยหรือ” อยากถามผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ อยากถามนายอำเภอท่าปลา อยากถามกำนันตำบลท่าปลา หน่วยงานที่รับผิดชอบทุกแห่งทำไมถึงทอดทิ้ง หรือมองพวกเราเป็น “โรฮิงญา” คนต่างประเทศหนีมา อพยพมายังอาศัยเราได้ ยังเลี้ยงเขาได้ พวกผมแค่ 13 หลังคาเรือน มีไม่ถึงพันคนทำไมถึงช่วยไม่ได้ ยามฝนตกน้ำขัง เด็กนักเรียนต้องไปแต่งตัวที่หน้าวัดหาดลั้ง ต้องใส่ชุดไปไร่ไปนาแล้วไปเปลี่ยนเป็นชุดนักเรียน พ่แม่ต้องไปเก็บชุดกลับบ้านด้วยความลำบาก
อย่าคิดว่าพวกผมไม่ลำบาก ไม่มีใครมาเหลียวแล ใคร่วอนกราบตีน กราบมือ กราบเท้า ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ นายอำเภอท่าปลา ผู้นำทั้งหลาย องค์กรหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบ บำบัดทุกข์บำรุงสุข ขอให้เข้ามาดูแลสักหน่อย ตนเป็นคนไทย ผ่านการคัดเลือกทหาร ลูกหลานก็เป็นคนไทย ไม่มีชาติอื่นมาปน ได้รับผลกระทบ คนที่อยู่เดิมมา 20-30 ปี ไปแต่งกับคนอพยพให้สร้างเขื่อนสิริกิติ์ คนสมัยเดิมใช่ว่าจะมีที่ดินเป็นนับร้อยไร่ อย่างเก่งก็แค่ 2-3 ไร่ อยู่ไหนโดนไล่หนีก็ต้องหนี ทำกินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ได้รับจัดสรรที่ดิน 14-15 ไร่ ป่าไม้มายึดครองแบ่งให้ไม่ถึง 3 ไร่ แถมยังต่อว่าอีก “ลุงอย่ารุกล้ำนะ ติดคุก” แล้วที่นายรุกล้ำของผมละ ผมจะเอาป่าไม้เข้าคุกได้ไหม ผมไม่ล้ำเขตแดนหรอก ป่าไม่แถวนี้เมื่อก่อนไม่เคยมีไฟไหม้ แต่เดี๋ยวนี้ต้องมีงบมาดับเพลิง เพื่อดับฟืนดับไฟ ใครจะเป็นคนดี ใครจะเป็นคนร้าย ใครเป็นคนสร้างกรรม ใครเป็นคนรับกรรม นายประมวลกล่าว
ด้าน นายสมพร นะถา นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อ.บ.ต.)ท่าปลา กล่าวว่า นับตั้งแต่ที่ตนเข้ามารับตำแหน่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าปลา ได้เล็งเห็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ตำบลท่าปลา และต้องการพัฒนาความเจริญให้กับพื้นที่ และมีความประสงค์ที่จะดำเนินการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อความปลอดภัยในการสัญจรของประชาชน และเพิ่มศักยภาพในการคมนาคมและการขนส่งสินค้าการเกษตรให้กับประชาชนในพื้นที่ตำบลท่าปลาจึงได้จัดทำโครงการพัฒนาพื้นที่รวมทั้งสิ้น 11 โครงการประกอบด้วย 1.โครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ทางเข้าที่ทำกินห้วยสัก หมู่ที่ 7 บ้านสิงห์คอมพัฒนา, 2.โครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ทางเข้าที่ทำกินห้วยบันดาล หมู่ที่ 7 บ้านสิงห์คอมพัฒนา, 3.โครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ทางเข้าที่ทำกินห้วยผาแก่น หมู่ที่ 7 บ้านสิงห์คอมพัฒนา, 4.โครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ทางเข้าที่ทำกินห้วยหนองไฮ แง่ขวา หมู่ที่ 7 บ้านสิงห์คอมพัฒนา, 5.โครงการก่อสร้างถนคอนกรีตเสริมเหล็ก ทางเข้าที่ทำกินห้วยหนองไฮ หมู่ที่ 7 บ้านสิงห์คอมพัฒนา, 6.โครงการก่อสร้างถนคอนกรีตเสริมเหล็ก ทางเข้าที่ทำกินห้วยภูไม้หัก หมู่ที่ 7 บ้านสิงห์คอมพัฒนา, 7.โครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ทางเข้าที่ทำกินซอย 8 ไร่ หมู่ที่ 6 บ้านเนินสวน, 8.โครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ทางเข้าที่ทำกินห้วยหลามเห็ด หมู่ที่ 10 บ้านปางผึ้ง, 9.โครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ทางเข้าที่ทำกินห้วยยิงแรด หมู่ที่ 12 บ้านสามร้อยเมตร, 10.โครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ทางเข้าที่ทำกินซอย 8 ไร่ หมู่ที่ 6 บ้านเนินสวน, 11.โครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ทางเข้าที่ทำกินซอย 13 ไร่ หมู่ที่ 6 บ้านเนินสวน
นายสมพร กล่าวว่า ทั้ง 11 โครงการ เป็นพื้นที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติลำน้ำน่านฝั่งขวา และใน 6 โครงการแรกนั้น เป็นเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติโดยเฉพาะ ส่วนอีก 5 โครงการเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติทับซ้อนคาบเกี่ยวกับพื้นที่นิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน ที่รัฐได้จัดสรรให้กับชาวบ้านที่เสียสละที่ดินเดิมเพื่อการก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์ ทางเทศบาลตำบลท่าปลา จึงได้จัดทำโครงการแยกเป็น 2 ส่วน พร้อมทำเรื่องขอใช้พื้นที่ทำประโยชน์ในป่าสงวนแห่งชาติลำน้ำน่านฝั่งขวากับทางผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ในระหว่างตรวจสอบเอกสารหลักฐานคำขออนุญาต และรอการอนุมัติให้ใช้พื้นที่ หากได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ก็จะดำเนินการในส่วนของ 6 โครงการแรกทันที ส่วน 5 โครงการที่เหลือ หากมีการอนุญาตให้ใช้พื้นที่จะต้องส่งเรื่องต่อไปยังนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน เพื่อเสนอต่อกระทรวงพัฒนาสังคมละความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อขออนุญาตในพื้นที่ดังกล่าว
ในส่วนของพื้นที่หมู่ 10 ห้วยหลามเห็ด เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติลำน้ำน่านฝั่งขวา ทับซ้อนคาบเกี่ยวกันกับพื้นที่ของนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน อยู่ในเรื่องของการประสานงานระหว่าง 2 หน่วยงาน ในส่วนขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าปลาก็ได้ประสานงานกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดอุตรดิตถ์ ให้เร่งดำเนินการในส่วนนี้เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่กำลังเดือดร้อนอยู่ หากได้รับอนุญาตก็จะรีบประสานงานกับหน่วยงานนิคมลำน้ำน่านทันที เพื่อจะได้เร่งช่วยในเรื่องถนนคอนกรีตและระบบประปาต่อไป
ทั้งนี้ ได้รายงานปัญหาของพื้นที่หมู่ 10 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้รับทราบแล้ว นับตั้งแต่ที่ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าปลา ก็ได้ดูเรื่องเอกสารการขออนุญาต เนื่องจากทราบว่า ประชาชนในพื้นที่หม่ 10 ได้รับความลำบากมาก ใช้ชีวิตอยู่มายาวนาน เมื่อเข้ามารับตำแหน่งก็ได้ประสานงานกับป่าไม้จังหวัดอุตรดิตถ์ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ตรวจสอบพบว่าในปี 2563 ทาง อ.บ.ต.ท่าปลา ไม่ได้ยื่นคำขอใช้พื้นที่ป่าไม้เอาไว้ ทำให้ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ตั้งแต่ปี 2565 หลังจากเข้ามารับตำแหน่งแล้วก็เริ่มหาทางช่วยเหลือชาวบ้านหมู่ 10 ที่กำลังประสบปัญหาเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้ทันที ทั้งลงพื้นที่ตรวจวัด ตรวจเอกสารร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ผู้นำท้องที่กำนันผู้ใหญ่บ้าน จนมาถึงปัจจุบันนี้เรื่องใกล้จะจบแล้ว ในเบื้องต้นได้นำลูกรังไปลงปรับพื้นที่เป็นถนนชั่วคราว ยังไม่สามารถทำถนนคอนกรีตสิ่งก่อสร้างแบบถาวรได้ เนื่องจากยังไม่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ จะรีบนำงบประมาณเข้าไปดำเนินการทันที.