Getting your Trinity Audio player ready...

วัดพระแท่นศิลาอาสน์” น้อมรำลึก 122 ปี พระพุทธเจ้าหลวง ร.5 เสด็จพระราชดำเนินประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ แวะกราบนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์และพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ทรงสร้างทางรถไฟสายเหนือที่อุตรดิตถ์-ศิลาอาสน์ 

วันที่ 24 ตุลาคม 2566 ที่วิหารวัดพระแท่นศิลาอาสน์ (พระอารามหลวง) ต.ทุ่งยั้ง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ พระวินัยสาทร เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ (ธรรมยุต) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายนพฤทธิ์ ศิริโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นประธานฝ่ายฆราวาสในพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล น้อมรำลึก 122 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระพุทธเจ้าหลวง) รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินวัดพระแท่นศิลาอาสน์ พระอารามหลวง เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2444 หรือ รศ.120 โดยมีนายสุรพันธ์ เจริญทรัพย์ วัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ นางน้ำทิพย์ ต่ายลำยงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์ หัวหน้าส่วนราชการ ประชาชนชาวอุตรดิตถ์และชาวลับแลทุกภาคส่วนเข้าร่วมกิจกรรมน้อมรำลึกถึงเมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จวัดพระแท่นศิลาอาสน์

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ.2396 เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบสัตติวงศ์ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2411 เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 5 แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2453 สิริพระชนมายุได้ 57 พรรษา และทรงครองราชสมบัติ นานถึง 42 ปี โดยมักจะเรียกพระนามว่า “พระปิยมหาราช” แปลว่า ราชายิ่งใหญ่ผู้ทรงเป็นที่รัก พสกนิกรชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ ต่างน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ ยังความร่มเย็นเป็นสุขให้บังเกิดแก่บรรดาอาณาประชาราษฎร์สืบจนปัจจุบัน พระองค์ทรงคำนึงถึงทุกข์ของราษฎร และประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่าความสุขส่วนพระองค์ ทรงรับพระราชภาระอันหนักยิ่งต่อกิจการของประเทศ ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักรนานัปการ

1 เมษายน พ.ศ. 2448 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศใช้ พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124’ และ พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ. 124’ ถือเป็นการเลิกระบบทาสและระบบไพร่ในสยามประเทศ โดยในส่วนของทาสนั้น พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124’ ให้ลูกทาสทุกคนเป็นไทตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2448 ส่วนทาสประเภทอื่นที่มิใช่ทาสในเรือนเบี้ย ทรงให้ลดค่าตัวเดือนละ 4 บาท นับตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2448 เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติป้องกันมิให้คนที่เป็นไทแล้วกลับไปเป็นทาสอีก ทำให้วันที่ 1 เมษายนเป็นที่รู้จักกันใน วันเลิกทาส

ทั้งนี้ ในคราวเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ ของพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อปี 2444 เพื่อทรงหล่อพระพุทธชินราชจำลอง เพื่อนำไปประดิษฐานวัดเบญจมบพิตร เมื่อหล่อพระเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระองค์ได้เสด็จเข้าสู่พื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ (ตอนนั้นยังเป็นเมืองพิชัย มีฐานะเทียบเท่าจังหวัดปัจจุบัน ยังไม่มีชื่อจังหวัดอุตรดิตถ์) ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2444 เสด็จถึงเมืองพิชัยและประทับค้างเมืองพิชัย พร้อมทั้งออกตรวจราชการและเยี่ยมเยือนประชาชน รวมทั้งได้พระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมืองพิชัยให้กับเจ้าเมืองพิชัย วันที่ 22 ตุลาคม 2444 เสด็จถึงเมืองตรอนตรีสินธ์ุ และประทับค้างเมืองตรอนตรีสินธุ์ เสด็จตรวจราชการ เยี่ยมเยือนประชาชน และทรงชมการตีดาบเหล็กน้ำพี้ รวมทั้งได้แจกเหรียญที่ระลึกให้กับเด็กและประชาชนในพื้นที่ด้วย วันที่ 23 ตุลาคม 2444 เสด็จถึงเมืองบางโพท่าอิฐหรือเมืองอุตรดิตถ์ในปัจจุบัน

เสด็จขึ้นฝั่งตรงวัดวังเตาหม้อหรือวัดท่าถนนในปัจจุบัน บริเวณลานสาธารณะริมน้ำน่านสถานที่ตั้งพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ในปัจจุบัน มีเจ้าเมืองน่าน แพร่ ลำปาง และล้านช้าง หัวเมืองประเทศราชมารับเสด็จด้วย และเสด็จตรวจราชการและเยี่ยมเยือนประชาชนเมืองบางโพท่าอิฐ และตลาดบ้านท่าเสา และประทับค้างพลับพลาที่ประทับรับรอง และ วันที่ 24 ตุลาคม 2444 เสด็จไปเมืองลับแล เพื่อตรวจราชการและเยี่ยมเยือนประชาชน ตามถนนอินใจมี จนถึงที่ว่าการอำเภอลับแล เสวยพระกระยาหารกลางวันเสร็จเสด็จไปดูฝายหลวง และเสด็จไปวัดพระแท่นศิลาอาสน์ เพื่อนมัสการสักการะพระแท่นศิลาอาสน์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง และเสด็จไปนมัสการพระบรมธาตุทุ่งยั้ง วัดพระบรมธาตุ ก่อนเสด็จกลับไปประทับค้างคืนพลับพลาที่ประทับในเมืองบางโพท่าอิฐ

เมื่อครั้งวันที่ 25 ตุลาคม 2444 พระองค์ทรงเสด็จไปตรวจราชการและเยี่ยมเยือนประชาชนเมืองฝาง เพื่อสักการะพระธาตุเมืองฝางสวางคบุรีมุนีนาถ และตรวจดูเมืองโบราณ แล้วเสด็จกลับมาประทับค้างคืนพลับพลาที่ประทับในเมืองบางโพท่าอิฐ วันที่ 26 ตุลาคม 2444 เสด็จกลับ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีต่อประชาชนชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ อันนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่จังหวัดอุตรดิตถ์และประเทศไทยเป็นลำดับต่อมา ทั้งการย้ายเมืองจากเมืองพิชัย มาตั้งที่เมืองอุตรดิตถ์ จนเป็นจังหวัดอุตรดิตถ์ปัจจุบัน การสร้างทางรถไฟสายเหนือมาถึงอุตรดิตถ์และสถานีรถไฟศิลาอาสน์ เป็นชุมทางหลักการคมนาคมขนส่งและค้าขายทางภาพเหนือ หลังจากการคมนาคมขนส่งทางน้ำทางเรือ จนทำให้อุตรดิตถ์เป็นชุมทางทางภาคเหนือ และเป็นเมืองงามสามวัฒนธรรม เนื่องด้วยเป็นพื้นที่รอยต่อของอารยธรรมล้านนา ล้านช้าง และไทยกลาง/สุโขทัย รวมทั้งกิจกรรมกิจการเกือบทุกด้านของประเทศไทยที่พระองค์พัฒนาประเทศไทยเรา.

Facebook Comments Box

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า