Getting your Trinity Audio player ready...
|
“อุตรดิตถ์” ชาวบ้านล้านช้างห้วยน้อยกา จัดพิธีเวียนเทียนบุญใต้ประทีป เวียนรอบเทียนคู่ 8 ทิศ 8 พระอรหันต์ สาวกพระพุทธเจ้า แทนอุโบสถ วิหารและเจดีย์ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในวัน “มาฆบูชา” ประเพณีที่ยึดถือกันมานานกว่า 300 ปี เวียนขวาตามความเชื่อบูชาผีบรรพบุรุษ รุกขเทวดา คนอยู่ป่า อยู่เขาและอยู่บนดอย เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาผสมผสานกัน
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 ที่บริเวณลานสำนักสงฆ์ล้านช้างห้วยน้อยกา (วัดพระบรมธาตุล้านช้าง) ต.ม่วงเจ็ดต้น อ.บ้านโคก จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นพื้นที่สำนักสงฆ์ อยู่ห่างไกลความเจริญติดกับประเทศลาว และอยู่ห่างจากตัวเมืองอุตรดิตถ์เกือบ 200 กิโลเมตร พระมหาภัทรอภิญาภรณ์ เจ้าคณะตำบลม่วงเจ็ดต้น ผู้ดูแลสำนักสงฆ์ล้านช้างห้วยน้อยกา พร้อมด้วยชาวบ้านล้านช้างห้วยน้อยกา ร่วม กันนำดินใส่แก้วพลาสติกใส จำนวน 250 ใบ ตั้งไว้ 8 ทิศ เสมือนพระอรหันต์ 8 รูป สาวกของพระพุทธเจ้านั่งประจำอยู่ 8 ทิศ ในพื้นที่บริเวณลานกว้างของสำนักสงฆ์ พร้อมปักเทียนคู่ใส่ลงไปในแก้วทุกใบ เพื่อเป็นจุดศูนย์กลางแทนอุโบสถ์ วิหาร เจดีย์ ซึ่งทางสำนักสงฆ์แห่งนี้ยังไม่มีเหมือน กับทุกวัดในพื้นที่เจริญแล้ว
เพื่อเป็นการจัดเตรียมพิธีเวียนเทียนบุญใต้ประทีปกลางแจ้งยามค่ำคืน ในคืนพระจันทร์เต็มดวง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ตรงกับวันมาฆบูชา ซึ่งเป็นวันคล้ายพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงโอวาทปาติ โมกข์ แก่พระสงฆ์ จำนวน 1,250 รูป เพื่อบูชาคุณพระรัตนตรัยและน้อมรำลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยมีชาวบ้านห้วยน้อยกาแต่งกายด้วยชุดสีขาว นำดอกไม้เทียนธูปมากราบไหว้พระประธานพร้อมกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย จากนั้นพระมหาภัทรอภิญาภรณ์ ผู้ดูแลสำนักสงฆ์ล้านช้างห้วยน้อยกา นำชาวบ้านเดินเวียนเทียนรอบเทียนคู่ทั้ง 8 ทิศ โดยเริ่มจากขวามือของพระพุทธรูปไปซ้าย จนครบ 3 รอบ นำเทียนที่ถืออยู่บนมือไปจุดต้นเทียนคู่ที่แก้วจนครบ 8 ทิศ พร้อมบทสวดมงคลจักรวาล 8 ทิศ เพื่อขับไล่เสนียดจัญไร สิ่งไม่ดีทั้งปวงให้ออกไปจากพื้นที่และช่วยปกปักรักษาคุ้มครองให้ผู้สวดพ้นภัยพิบัติทั้งปวง เป็นพิธีและประเพณีของชาวล้านช้าง สืบทอดกันมานานกว่า 300 ปี ในเรื่องของการบูชาดวงวิญญาณบรรพบุรุษ รุกขเทวดาของคนอยู่ป่า อยู่เขาและอยู่บนดอย เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาผสมผสานกัน ผิดกับการเวียนเทียนทั่วไปที่เดินจากซ้ายไปขวา
ประเพณีดังกล่าวมีตั้งแต่ครั้งโบราณกาล สมัยนั้นชาวล้านช้างอยู่ตามป่าตามเขา จึงมีความเชื่อความศรัทธาในเรื่องของผี ทั้งผีบ้านผีเรือน ผีปู่ย่าตายาย เป็นความเชื่อของชาวล้านช้างที่อยู่คู่กันมาจนมีความเจริญมั่งคั่ง บรรพบุรุษได้สืบทอดต่อกันมานานหลายร้อยปีแล้ว เป็นประเพณีบุญใต้ประทีป(จุดเทียนบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์) ซึ่งชาวบ้านห้วยน้อยกาได้อพยพถิ่นฐานมาจากหลวงพระบาง จึงได้นำประเพณีนี้มาใช้เพื่อสืบทอดให้ลูกหลานได้ยึดถือยึดถือยึดเหนียวกราบบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า น้อมรำลึกถึงคุณพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ ละความชั่วกระทำแต่ความดี เป็นการเวียนเทียนใต้ประทีปล้านช้างครั้งนี้ จังหวัดอุตรดิตถ์ มี 3 วัฒนธรรม ล้านช้าง ล้านนาและไทยกลาง ประเพณีจุดเทียนใต้ประทีปจึงเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวล้านช้าง สำหรับวัดที่ไม่มีอุโบสถ วิหารและเจดีย์ ที่สืบทอดกันมาถึงทุกวันนี้.