Getting your Trinity Audio player ready...

“งดงามตระการตา” ขบวนแห่เครื่องบวงสรวง เทิดเกียรติ คุณงามความดี “พญาปาด” ผู้สร้างบ้านแปงเมือง งานพญาปาด หอมแดง-กระเทียมของดีอำเภอน้ำปาด หัวหน้าคณะเมืองบ่อแตน สปป.ลาว ยกทีมร่วมงานเชื่อมมิตรภาพการค้าไทย-ลาว ชื่นมื่น!

วันที่ 21 มีนาคม 2567 ที่บริเวณหน้าอนุสาวรีย์พญาปาด ต.แสนตอ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ นายนพฤทธิ์  ศิริโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นประธานเปิดงานพญาปาด งานเทศกาลหอม- กระเทียม และของดีอำเภอน้ำปาด ประจำปี 2567 นายวัลลภ  หรั่งเพชร นายอำเภอน้ำปาด กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ เพื่อเป็นการเทิดเกียรติและรำลึกถึงวีรกรรมของพญาปาด ส่งเสริมผลผลิตทางการเกษตรของอำเภอน้ำปาด ที่มีชื่อเสียงและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ อาทิ หอม กระเทียม สับปะรดห้วยมุ่นและผ้าทอพื้นบ้าน ส่งเสริมอนุรักษ์ศิลป์วัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้าน ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว เผยแพร่ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวต่างจังหวัดและนักท่องเที่ยวทั่วไปได้รู้จักอำเภอน้ำปาดให้มากยิ่งขึ้น ได้เข้ามาจับจ่ายซื้อสินค้า   โอท๊อปและสินค้าการเกษตรภายในงาน เริ่มตั้งแต่วันที่ 14-23 มีนาคม 2567 กิจกรรมภายในงานมีการ ออกร้านมัจฉากาชาดและการออกร้านของหน่วยงานราชการต่างๆ อาทิ เกษตรอำเภอน้ำปาด เทศบาลตำบลน้ำปาด อบต.แสนตอ อบต.บ้านฝาย อบต.เด่นเหล็ก อบต.น้ำไคร้ อบต.ท่าแฝก อบต.ห้วยมุ่น อบต.น้ำไผ่ เป็นการแสดงออกถึงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมพื้นบ้านของแต่ละตำบล การประกวดอาหารยำลีลา การแสดงของนักร้องชื่อดังและมหกรรมสวนสนุก ชมขบวนแห่เครื่องสักการะพญาปาด ขบวนแห่ศิลปวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้านของดีอำเภอน้ำปาด โดยท้องถิ่น 7 อบต. 1 เทศบาล และ 1 เหล่ากาชาด

โดยมี นายชลิต ธนวัฒน์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ นายจักรพรรณ สุวรรณภักดี นายอำเภอท่าปลา ว่าที่ร้อยตรี กิตติวัฒน์ กิติเวช นายอำเภอฟากท่า พ.ต.อ.อัครเดชนินธร ทวีสินวัฒนเดชา ผกก.สภ.น้ำปาด นายปรัชญา เสริฐลือชา อดีตนายอำเภอลับแล​ ร่วมพิธีเปิดงานพญาปาด หอมแดง-กระเทียม​ของดีอำเภอน้ำปาด​ในครั้งนี้ด้วย

สำหรับในปีนี้ทางอำเภอน้ำปาด ได้รับเกียรติจากคณะหัวหน้าส่วนราชการสาธารณรัฐประชาธิป ไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ผู้แทนเจ้าเมืองบ่อแตน แขวงไชยยะบุรี ประกอบด้วย 1. ท่าน อุ่น ทำมะวง รองเลขาพักเมือง, ประทานตรวจสอบพรรค-รัฐ เป็นหัวหน้า 2.ท่าน กงเกียน ถะนะสูด หัว หน้าห้องการเกษตรและป่าไม้ เป็นรอง 3.ท่าน พันโท วิละทัด วงสักดี รองหัวหน้ากองบัญชาการ ปกส. เมือง เป็นคณะ 4.ท่าน พันตรี ทองสี แสนทอน หัวหน้าทหารกองร้อยชายแดน 160 เป็นคณะ 5.ท่าน ปะสิด ไชยะลาด รองหัวหน้าห้องว่าการเมือง เป็นคณะ 6.ท่าน พุดทลี พิมพักดี รองหัวหน้าห้องการอุตสาหกรรม และ การค้า เป็นคณะ 7.ท่าน น. สร้อยคำ พิมมะแก้ว ห้องว่าการเมือง เป็นคณะ 8.ท่าน น. แอ้ม สิลิปันยา ห้องว่าการเมือง เป็นคณะ 9.ท่าน คำผาย วงพะจัน การการเกษตรและป่าไม้ เป็นคณะ 10.ท่าน ทองแดง มีมา นายบ้านหนองปะจีด เป็นคณะ

ทั้งนี้สืบเนื่องจาก  พื้นที่หมู่ 4 บ้านห้วยพร้าว ต.ห้วยมุ่น อ.น้ำปาด ได้มีการเปิดด่านประเพณีช่องห้วยพร้าว เพื่อทำการติดต่อซื้อขายสินค้าระหว่างไทยกับ สปป.ลาว บ้านหนองปาจีด เมืองบ่อแตน แขวงไชยะบุรี สปป.ลาว โดยเปิดทำการสัปดาห์ละ1วันคือ วันอาทิตย์ มีประชากร 17,500 คน ได้ทำการซื้อขายสินค้าแลกเปลี่ยนกันและกัน โดยเฉพาะสินค้าอุปโภค-บริโภค อาทิ เหล็กเก่า สินค้าทางเกษตรและสินค้าอื่นๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจพื้นที่ชายแดน เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ ความผูกพันธ์มิตรภาพระหว่างประเทศไทย-ลาว ด้านอำเภอน้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ กับเมืองบ่อแตน แขวงไชยะบุรี ให้เกิดมิตรภาพที่มั่นคงถาวร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “พญาปาด” เป็นผู้สร้างบ้านแปลงเมืองน้ำปาด ฟากท่า ซึ่งในปัจจุบันนี้ คือ อำเภอน้ำปาด และฟากท่า วัน เดือน ปีเกิด ของท่านผู้นี้ ไม่ปรากฏไว้เป็นหลักฐาน คงเป็นแต่เรื่องเล่าสืบทอดกันมา  “พญาปาด” เป็นคนลาว อาศัยอยู่ที่นครเวียงจันทร์ เป็นเวลานานมีประชาชนเคารพ รักใคร่ และนับถือมาก เมื่อการทำมาหากินที่เวียงจันทร์ เกิดอัตคัดขัดสนขึ้น “พญาปาด” ได้ชักชวนพลเมืองส่วนหนึ่ง อพยพไปหาที่ทำกินใหม่ โดยอพยพมุ่งหน้ามาทางทิศตะวันตกของนครเวียงจันทร์ ได้เข้ามาปักหลักตั้งถิ่นฐานขึ้นใหม่ และสร้างเมืองน้ำปาด ที่ริมฝั่งแม่น้ำบ้านสองคอน(ปัจจุบันอยู่ในเขต อ.ฟากท่า จ.อุตรดิตถ์) ในระยะเวลาต่อมาผู้คนได้เพิ่มจำนวนมากขึ้น สำหรับศาลปู่ตาพญาปาดนั้น ปัจจุบันตั้งอยู่ที่หมู่ “บ้านฝาย” หรือชื่อเดิม “บ้านฝ้าย” เป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลบ้านฝาย อำเภอน้ำปาด ในสมัยนั้นท่านเป็นผู้เก่งกล้าสามารถ  ปัจจุบันยังปรากฏศาสตราวุธ และชุดออกศึกที่ลูกหลานผู้สืบเชื้อสาย ได้เก็บรักษาไว้ ชาวน้ำปาดจึงได้จัดสร้างอนุสาวรีย์พญาปาดขึ้น พร้อมกับจัดงานพญาปาด เทศกาลหอม กระเทียม และของดีอำเภอน้ำปาด  ณ อนุสาวรีย์ ของท่านพ่อพญาปาด  ในเดือนมีนาคมของทุกปี เพื่อเป็นการเทิดเกียรติ รำลึกวีรกรรมพญาปาด และนึกถึงคุณงามความดีของท่านที่ร่วมสร้างเมืองน้ำปาดขึ้นมา

คำขวัญ “หอมแดงเด่นเหล็ก แกร่งดั่งเหล็ก พันธุ์หอมแดงขึ้นชื่อลุ่มแม่น้ำปาด” หอมแดงน้ำปาด มีพื้นที่ปลูกอยู่ใน 2 ตำบลได้แก่ ตำบลเด่นเหล็ก และตำบลบ้านฝาย ซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตลุ่มแม่น้ำปาดซึ่งมีดินตะกอนแม่น้ำที่เรียกว่าน้ำไหลทรายมูล จากภูเขาในเขตอำเภอบ้านโคก ฟากท่า มารวมกันที่นี่ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะ หมู่ที่2 บ้านนาน้ำพาย หมู่ที่3 บ้านเด่นเหล็ก และหมู่ที่4 บ้านต้นม่วง โดยมีพื้นที่ปลูกจำนวน 1,980 ไร่ ผลผลิต 6,930 ตัน/ปี ถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจ และเป็นรายได้หลักของชาวบ้านกว่า 493 ครัวเรือน คิดเป็นเงิน 83.16 ล้านบาทต่อปี

สำหรับการเพาะปลูก เกษตรกรจะปลูกอยู่ 2 ช่วง ช่วงแรกคือ “หอมฝน” ปลูกช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน ช่วงนี้เป็นที่รู้กันว่าจะเป็นช่วงที่ฝนตกต่อเนื่อง หอมพันธุ์ที่ถูกแขวนไว้ในโกดังที่เกษตรกรได้เก็บไว้ในช่วงของการเก็บเกี่ยวหอมรุ่น 2 ก็จะถูกนำมาตัดเพาะปลูกลงดิน การเพาะปลูกในช่วงนี้จะเป็นการเพาะปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตมาจำหน่ายเป็นหอมแดงพันธุ์ อายุการเก็บเกี่ยวสั้นประมาณ 45 วัน เก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือน ตุลาคม – พฤศจิกายน ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 3,000 กิโลกรัมต่อไร่ ได้น้อยกว่าหอมแล้ง แต่มีราคาที่น่าจูงใจแต่ต้องรับความเสี่ยงในบางปีฝนตกมีปริมาณมากแม่น้ำปาดน้ำเอ่อล้นท่วมเสียหาย ความนิยมของหอมแดงเด่นเหล็ก คือ พื้นที่ที่มีแหล่งปลูกหอมแดงที่สำคัญต่าง ๆ ทั่วประเทศ จะมาซื้อพันธุ์หอมแดงจากที่นี่ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดศรีษะเกษ เชียงใหม่ ลำพูน จากคำบอกเล่าเปรียบเปรยได้ว่าหอมแดงเด่นเหล็ก แกร่งดั่งเหล็ก พันธุ์หอมแดงขึ้นชื่อลุ่มแม่น้ำปาด ช่วงที่สอง คือ “หอมแล้ง” ปลูกช่วงเดือนตุลาคม – มกราคม เข้าสู่ปลายฝนจนถึงฤดูหนาวเกษตรกรจะนำหอมฝนบางส่วนเก็บไว้เป็นหอมพันธุ์เพื่อนำไปปลูกเป็นหอมแล้ง ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าช่วงนี้เหมาะสมกับการปลูกพืชผักต่าง ๆ หอมแดงก็เช่นกัน ในฤดูหนาวหอมแดงจะได้รับอากาศหนาว เย็น เหมาะแก่การลงหัวร่วมกับการดูแลรักษาที่เกษตรกรเอาใจใส่ เรียกว่าเกษตรกรเด่นเหล็ก

ช่วงนี้ขอเว้นงานหลวง (งานสาธารณประโยชน์) มาดูแลหอมแดงกันอย่างเต็มที่ จึงทำให้หอมแดงเด่นเหล็กมีลักษณะ หัวใหญ่ สีแดงสด มีกลิ่นฉุน แกร่งเก็บรักษาไว้ได้นานการปลูกในช่วงนี้จะเป็นการปลูกเพื่อจำหน่ายเป็นหอมบริโภค ผลผลิตจะเก็บได้ช้ากว่าหอมฝน อายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 60-70 วัน ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 4,000 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งในพื้นที่ตำบลเด่นเหล็กมีเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงมีการรวมกลุ่มเกษตรกรจัดตั้งเป็น “แปลงใหญ่หอมแดงเด่นเหล็ก หมู่ที่ 3ตำบลเด่นเหล็ก อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์” กับหน่วยงาน

โดยมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 45 ราย ขึ้นทะเบียนกับทางกรมส่งเสริมการเกษตร และมีการตั้งเป้าหมายร่วม ร่วมกันคิด ร่วมกันวางแผน ร่วมกันลงมือทำโดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรอำเภอน้ำปาดเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลเกษตรกร ประสานงานและบูรณาการงานร่วมกับหน่วยงานราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ตรงตามมาตรฐานสินค้าเกษตร (GAP) และยังได้รับความร่วมมือจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุตรดิตถ์

ปัจจุบันหอมแดงสดถูกเหมาหน้าสวนและถูกกำหนดราคาโดยพ่อค้าคนกลาง ผ่านนายหน้าในพื้นที่ ซึ่งแต่ละปีมีแนวโน้มราคาลดลงเรื่อยๆ ปี 2567 นี้ จึงรวมกลุ่มกันทำแผน แขวนทำหอมแดงแห้ง มัดจุกจำหน่ายเองรวม 25 ตันในปีแรกนี้ หากการเริ่มต้นปีนี้เป็นไปด้วยดี มีตลาดรองรับผลผลิตจากกลุ่มเกษตรกรสู่ผู้บริโภค หรือโรงงานแปรรูปอุตสาหกรรมโดยตรง คาดว่าจะมีรายได้ที่หมุนเวียนสู่ชุมชนเพิ่มขึ้นมาก อีก 44.55 ล้านบาท/ปี และ “สมาชิกกลุ่มยังกล่าวว่า หากหอมแดงของเราติดตลาดแล้ว ยังมีความพร้อมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำของชาวบ้านได้อย่างยั่งยืน” ตามนโยบายภาครัฐในการส่งเสริมการเกษตรโดยใช้ ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้

“กระเทียมน้ำปาด ยาดีต่อหัวใจ ปลอดภัยต่อสุขภาพ” กระเทียมน้ำปาด มีพื้นที่ปลูกในหมู่ที่ 2 บ้านใหม่ และหมู่ที่ 7 บ้านชำบุ่น ตำบลบ้านฝาย ปัจจุบันมีเกษตรกรเพาะปลูก 20 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก 120 ไร่ ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 1 ตัน ก่อให้เกิดรายได้ในชุมชน ปีละกว่า 4.2 ล้านบาท คุณสมบัติเด่นของกระเทียมน้ำปาด คือ หัวกระเทียมเป็นสีชมพูอมม่วง เปลือกบาง กลิ่นฉุนหอม รสเผ็ดมาก ไม่ฝ่อง่าย สามารถเก็บไว้รับประทานได้นานมากกว่า 6 เดือน หมดปัญหาซื้อกระเทียมตุนไว้แล้วได้กินแค่ครึ่งมัดไปเลยค่ะ ที่สำคัญกระเทียมน้ำปาดมีค่าสารอินทรีย์กำมะถันสูงที่สุดในประเทศไทยซึ่งมีค่าสูงถึง 1.543 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสารซึ่งเป็นสารที่ทำให้กระเทียมมีกลิ่นหอม มีรสเผ็ดร้อน ให้พลังงาน สารเหล่านี้ช่วยในการป้องกันหลอดเลือดอุดตัน ป้องกันกล้ามเนื้อหัวใจหยุดทำงานเฉียบพลัน ลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด ลดความดันโลหิตสูงลดปริมาณน้ำตาลในเลือด รักษาโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร ลำไส้ ป้องกันโรคหวัด วัณโรค หรือนิวโมเนีย โรคคอตีบ ปอดบวม ไทฟอยด์ มาลาเรีย คออักเสบ อหิวาตกโรค ช่วยขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ ขับลมภายในกระเพาะ แก้ท้องอืดเฟ้อ รักษาแผลสด แผลเป็นหนอง โรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน น้ำกัดเท้า เชื้อราในร่มผ้า ปวดฟันจากฟันผุ ปวดหู หูอื้อ หูตึง ฯลฯ

เกษตรกรเพาะปลูกกระเทียมปีละ 1 ครั้ง โดยเริ่มปลูกช่วงปลายเดือน พฤศจิกายน และเก็บเกี่ยวช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม ของทุกๆปี อายุการเก็บเกี่ยวทั้งหมด 90-120 วัน โดยกระเทียมที่เก็บก่อน จะจำหน่ายให้กับกลุ่มผู้แปรรูปกระเทียมดองในพื้นที่ และโรงงานแปรรูปกระเทียม ซึ่งจะเรียกว่า “กระเทียมอ่อน” ราคาสดจะอยู่ที่ 25-30 บาท/กก. และบางส่วนรอจนครบอายุเก็บเกี่ยว 120 วัน เพื่อให้กระเทียมแกร่ง ไม่ฝ่อง่าย เก็บรักษาได้นาน ราคาสดอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 30 – 35 บาท ราคาแห้งเกษตรกรจะคัดเกรดตามขนาดหัว เริ่มต้นที่กิโลกรัมละ 35 – 60 บาท

นอกจากจำหน่ายในรูปกระเทียมสดและแห้งแล้ว ยังมี Rare item ที่ลูกค้าต่างถามหานั้นก็คือ กระเทียมโทน และหำกระเทียม ซึ่งเป็นลูกกระเทียมขนาดเล็ก ที่อยู่บนปลายของหัวกระเทียม เชื่อว่า เป็นจุดสะสมฮอร์โมนการเจริญพันธุ์ เป็นจุดที่มีสารอินทรีย์กำมะถันมาก ถือเป็นคลังยาที่กระเทียมใช้ดูแลชีวิต เป็นอีกผลผลิตที่หายาก และมีราคาสูง โดยจำหน่ายกระเทียมโทนในราคากิโลกรัมละ 400 – 500 บาท ส่วนหำกระเทียมจำหน่ายกิโลกรัมละ 1,000 บาท

จากภูมิปัญญาการปลูกกระเทียมของชาวน้ำปาดนั้น ถือว่าเป็นพืชที่ปลอดภัยจากสารเคมีสำหรับผู้บริโภค เนื่องจากใช้สารเคมีน้อยมาก เริ่มจากการเตรียมดิน หลังจากการทำนาโดยการถากถางตอซังข้าว และวัชพืชต่างๆ ในนา แล้วใช้รถไถเดินตาม หรือบ้างใช้แรงงานคน ขุดไถแหวกร่องผ่าแบ่งแปลงเป็นช่วงๆ เพื่อเป็นร่องน้ำเอาน้ำเข้า หรือเป็นทางระบายน้ำออกจากแปลงในกรณีน้ำมากเกินไป ดินที่แหวกร่องก็ฟื้นขึ้นมาทุบเกลี่ยบนแปลงที่ถากตอซังแล้วใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก ปรับหน้าดินให้เรียบ เรียกว่าปลูกแบบไม่ขุดดินทั้งผืนแต่ขุดเฉพาะร่องน้ำ และไม่ค่อยมีโรค หรือแมลงรบกวนมากนัก นอกจากนี้ เกษตรกรที่นี่ยังใส่ใจเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น มีการจัดตั้ง กลุ่มกระเทียมน้ำปาด ปลูกกระเทียมปลอดสารพิษ ขึ้น ถึงแม้ผลผลิตที่ได้จะมีน้ำหนักลดน้อยลง แต่คุณภาพไม่น้อยตามแน่นอน เพราะได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตที่ดีและเหมาะสม (GAP) จากกรมวิชาการเกษตรเรียบร้อยแล้ว

สนใจกระเทียมน้ำปาด ติดต่อได้ที่ กระเทียมอินทรีย์บ้านใหม่ หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านฝาย ติดต่อ คุณมาลัย  อินคำน้อย โทร. 097-918-9236 มีกระเทียมแกะกลีบพร้อมทานไม่ต้องปอกกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมชำบุ่น คุณสีนวน จำปาเทศ โทร. 097-163-9135 และ คุณเลิศ นุชยาโทร. 0856519001

Facebook Comments Box

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า