Getting your Trinity Audio player ready...

“ทนายบวร” เชิญศิษยานุศิษย์ คณะศรัทธาร่วมงานกตัญญูบูรพาจารย์ ปีที่ 19 ครบรอบวันเกิด หลวงปู่ทองดำ 123 ปี จัดตั้งโรงทาน หาทุนสร้างรูปเหมือน “อริยสงฆ์ 5 แผ่นดิน เทพเจ้าแห่งวัดท่าทอง ”  พราหมณ์ดิษฐ์ นำไม้จันแกะรูปหลวงปู่ ฤาษีนารอด หนุมานนั่งแท่น ปลุกเสกโดย อ.แจ้ ออกให้บูชา นำรายได้เข้าวัด

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 นายบวร  ทับแว่ว  ศิษยานุศิษย์หลวงปู่ทองดำ กล่าวว่า ทางคณะศิษยานุศิษย์หลวงปู่ทองดำ พร้อมด้วยคณะกรรมการวัดท่าทอง ต.วังกะพี้ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ ได้ร่วมกันจัดงานพิธีวันกตัญญูบูรพาจารย์ ปีที่ 19 (ครบรอบวันเกิด 123 ปี ชาตกาล)  พระนิมานโกวิท (หลวงปู่ทองดำ ฐิตวัณโณ) พระอริยสงฆ์ 5 แผ่นดิน เทพเจ้าแห่งวัดท่าทอง ในวันพุธที่ 10 เมษายน 2567 นี้ ซึ่งตรงกับวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 5 ปี มะโรง ณ มณฑปจัตุรมุข พระนิมมานโกวิท ในการดำเนินการจัดสร้างรูปเหมือนหลวงปู่ทองดำ หน้าตักกว้าง 5 เมตรสูง 4 เมตร เนื้อทองสำริด พร้อมอาคารรองรับ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความกตัญญูต่อบูรพาจารย์ ซึ่งยังขาดทุนทรัพย์อีกจำนวนมาก ประมาณ 18 ล้านบาท

นายบวร  กล่าวว่า กิจกรรมของงานในวันที่ 10 เมษายน เริ่มตั้งแต่ 07.09 น มณฑปจตุรมุขและศาลาเจริญธรรม โดยเริ่มทำพิธีบวงสรวงท้าวเวสสุวรรณ พิธีเจริญพุทธมนต์ให้กับหลวงปู่ทองดำ และมีพิธีมอบทุนการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนโรงเรียนวัดท่าทอง(นิมมานโกวิทพิทยา) ทั้งนี้ มีการจัดตั้งโรงทานจากคณะศิษยานุศิษย์พร้อมด้วยประชาชนทั่วไปที่ศรัทธาหลวงปู่ ร่วมจัดตั้งถวายเป็นกุศลให้กับหลวงปู่ทองดำด้วย กิจกรรมในวันที่ 10 เมษายนนี้ จะมีขึ้นเป็นประจำทุกปีตั้งแต่หลวงปู่ยังมีชีวิตอยู่ จนมาถึงทุกวันนี้ เพื่อเป็นการกตัญญูกตเวทีต่อพระนิมานโกวิท (หลวงปู่ทองดำ ฐิตวัณโณ) พระอริยสงฆ์ 5 แผ่นดิน เทพเจ้าแห่งวัดท่าทอง  จึงอยากขอเชิญชวนศิษยานุศิษย์ คณะศรัทธาหลวงปู่ทองดำและประชาชนทุกท่าน ร่วมงานงานพิธีวันกตัญญูบูรพาจารย์ ปีที่ 19 พร้อมตั้งโรงทาน ในวันนี้

ประวัติและกิตติคุณ พระนิมมานโกวิท (หลวงปู่ทองดำ ฐิตวณฺโณ) วัดท่าทอง อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ “ภูมิหลังชาติกำเนิด” วันพุธ ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 5 พุทธศักราช 2441 ณ.บ้านไซโรงโขน อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร นายบุญนาค แม่พริ้ง และ นางจ่าย แม่พริ้ง ได้ให้กำเนิดบุตรคนที่ 4 เพศชาย (ในจำนวนพี่น้องชายหญิง 8 คน) บิดามารดาได้ตั้งชื่อ เด็กชายทองดำ เม่นพริ้ง

“การศึกษาวัยเด็ก” ขณะเด็กชายทองดำ อายุ 3 ขวบ บิดามารดาได้นำไปถวายเป็นบุตรบุญธรรมกับหลวงพ่อเงิน พุทธโชติ(วัดบางคลาน จ.พิจิตร) หลวงพ่อเงินเห็นครั้งแรก เอ๋ยคำออกมา “ไอ้หนูเด็กน้อยคนนี้เป็นเทวดามาเกิด ใครเลี้ยงก็ไม่ได้ มาเป็นลูกของเราเถิดนะ” หลวงพ่อเงินเอาผ้าผืนลงปูรองรับเด็กน้อยคนนี้ ทำพิธีรับลูก จากนั้นเด็กคนนี้ได้รับการเลี้ยงดูอุปถัมภ์ สั่งสอนอบรมวิชาความรู้ และสรรพวิชาต่าง ๆ โดยได้พักอาศัยกับหลวงพ่อ เมื่อหลวงพ่อเงินท่องบทสวดมนต์เด็กชายทองดำก็สามารถท่องได้จบเล่มในวันเดียว ชาวบ้านรู้ข่าวต่างแห่มาดูการใหญ่ว่าเด็กน้อยคนนี้มีหน้าตาอย่างไร กระทั่งโตขึ้นบิดามารดามา รับเด็กชายทองดำไปเล่าเรียนศึกษากับอาจารย์โต (เจ้าอาวาสวัดท่าทอง ต.วังกะพี้ จ.อุตรดิตถ์ในสมัยนั้น)

“อุปสมบทเมื่ออายุ 22 ปี” ณ. พระอุโบสถ วัดวังหมู ต.หาดกรวด อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ โดยมีพระครูวิเชียรปัญญามหามุนี (เรือง )เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์เจ้าอาวาสวัดท่าถนน ต.ท่าอฐ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ ในขณะนั้นเป็นองค์อุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2463 พระอาจารย์แส เจ้าอาวาสวัดวังหมู ต.หาดกรวด อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ฐิตวณโณ” เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดท่าทอง 1 พรรษา ต่อมาได้ย้ายไปอยู่วัดท่าถนน ซึ่งเป็นวัดของพระอุปัชฌาย์ของท่าน และได้จำพรรษาอยู่ 3 พรรษา ทางวัดท่าทอง ต.วังกะพี้ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ ตำแหน่งเจ้าอาวาสว่างลง คณะศรัทธาวัดท่าทองได้ลงความเห็นพ้องกัน โดยได้ไปกราบนมัสการเจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อขออนุญาตจากเจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ด้วยดี คณะศรัทธาให้”พระภิกษุทองดำ” เพื่อนิมนต์ให้ไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท่าทอง ซึ่งหลวงพ่อเองก็มีเจตนาอันบริสุทธิ์และจิตใจอันแน่วแน่ต่อพระพุทธศาสนาและเป็นโอกาสที่จะได้พัฒนาทำนุบำรุงเพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นสมความตั้งใจ หลวงพ่อจึงรับภารกิจนิมนต์ครั้งนี้และย้ายมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท่าทอง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2468เป็นต้นมา

ปีพ.ศ.2468 อายุ 27 ปี พรรษา 5 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท่าทอง  – ปี พ.ศ.2478 ได้รับสมณศักดิ์แต่งตั้งเป็นพระธรรมธรฐานานุกรมของพระครูวิเชียรปัญญา มหามุณีศรีอุตรดิตถ์ เจ้าคณะอุตรดิตถ์ – ปี พ.ศ.2482 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะเป็นเจ้าคณะตำบลหาดกรวด-วังกะพี้ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ และได้เลื่อนสมณศักดิ์แต่งตั้งเป็นพระปลัดฐานานุกรม ของพระครูธรรมสารโกวิทย์ (ยศ)เจ้าคณะแขวงเมืองอุตรดิตถ์ ปี พ.ศ. 2487 ได้รับพระราชทานเป็นพระครูธรรมมาภรณ์ประสาท – ปี พ.ศ.2497 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ปี พ.ศ.2504 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราช ทานคณะชั้นสามัญนาม “พระนิมมานโกวิท” – ปี พ.ศ.2510 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ – ปี พ.ศ.2542 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จวบจนมรณภาพ

“การศึกษาด้านเวทย์มนต์คาถาอาคม” ช่วงวัยเด็กหลวงปู่ได้ติดตามบิดาล่องเรือขายยาสูบระหว่างอุตรดิตถ์ จ.พิจิตร จ.นครสวรรค์ บิดามารดาได้ฝากเป็นเด็กวัด เรียนหนังสือกับหลวงพ่อเงิน พุทธโชติ วัดบางคลาน จ.พิจิตร คอยรับใช้ใกล้ชิดท่านอนุญาตให้พักกุฎิเดียวกับท่าน หลวงพ่อเงินได้สอนสรรพวิชาอาคมไสยเวทต่าง ๆ คาถาที่หลวงพ่อเงินสอนไว้นั้นที่สำคัญคือ “นะโมพุทธายะ” (พระเจ้าห้าพระองค์) ซึ่งต่อมาหลวงปู่ได้ใช้เป็นคาถาประจำตัวของท่านตลออดมา

นอกจากนั้น หลวงปู่ยังได้ศึกษาวิชาอาคมกับโยมปู่ของท่าน ซึ่งเป็นวิชาอยู่ยงคงกระพัน เพื่อป้องกันตนเอง หลวงปู่ได้ใช้วิชานี้ปลุกเสกตัวเองก่อนจะขึ้นชกมวยทุกครั้ง โดยก่อนจะขึ้นชกมวยหลวงปู่จะบริกรรมคาถาจนรู้สึกว่าเนื้อเริ่มหนาขึ้น (ของขึ้น) จึงจะชกได้ เมื่อขณะหลวงปู่อุปสมบทแล้ว ได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดท่าถนน (วัดหลวงพ่อเพ็ชร)ซึ่งอยู่ในตัวเมืองอุตรดิตถ์ หลวงปู่ทราบทราบว่าที่วัดกลางอยู่ห่างจากวัดท่าถนนทางทิศใต้ประมาณ 2 กิโลเมตร มีพระภิกษุชราอยู่รูปหนึ่ง “หลวงพ่อทิม”ขาดการดูแลเอาใจใส่ หลวงปู่จึงได้ใช้เวลาว่างเดินทางจากวัดท่าถนนมาวัดกลางทุกวัน เพื่อปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อทิม ด้วยจิตใจเมตตาและให้ความเคารพนับถือ โดยหลวงปู่ได้ปฎิบัติภารกิจเป็นประจำทุกวัน ได้แก่ ตักน้ำ ขึ้นมาจากท่าแม่น้ำน่าน นำมาใส่ตุ่มไว้ให้หลวงพ่อทิมได้สรง เก็บกวาดกุฎิ ชำระล้างภาชนะต่าง ๆ ประจำมิขาด โดยหลวงปู่มิได้หวังสิ่งค่าตอบแทนใดทั้งสิ้น แต่ทำไปเพราะจิตเมตตาแก่ภิกษุผู้สูงอายุโดยแท้ซึ่งจากการกระทำความดีของหลวงปู่ๆ ทำให้หลวงพ่อทิมซึ่ง ขณะนั้นไม่มีผู้ใดทราบหลวงพ่อทิม เป็นพระภิกษุเชี่ยวชาญมนต์คาถาทุกด้าน ซึ่งกิตติศัพท์ ชาวบ้านย่านเกาะบางโพและตำบลใกล้เคียงทราบคือ “ตะกรุดโทน”ซึ่งหลวงพ่อปลุกเสกโดยดำลงน้ำจารอักขระบนแผ่นตะกรุดจนกว่าเสร็จ *น่าเสียดายวันหนึ่งมีมนุษย์ผู้เขลาด้วยปัญญา นำตะกรุดที่ท่านมอบไปผูกคอสุนัขและยิงสุนัข แต่ปาฎิหารย์กระสุนด้านหมด เมื่อหลวงพ่อทิมเห็นสุขันวิ่งหลบใต้กุฎิจึงถอดออกจากคอสุนัข

ท่านโกรธจึงประกาศงดให้เครื่องรางของขลังแก่ชาวบ้าน หลวงปู่เมื่อได้รับมอบวิชาและตำราจากหลวงพ่อทิมไปแล้ว ท่านหมั่นศึกษาภาวนาปฎิบัติ ทุกบท ทุกวรรคตอน จนสิ้นกระบวนความในตำรา จนชาวบ้านเกาะต่างกล่าวกันว่าหลวงพ่อทิมไปเกิดที่วัดท่าทอง หลวงปู่ได้ใช้คาถาอาคมช่วยเหลือชาวบ้านตลอดมา ประพรมชาวบ้านที่แวะเวียนมากราบนมัสการท่าน ซึ่งน้ำมนต์นี้หลวงปู่จะปลุกเสกทุกวัน ใส่โอ่งมังกรขนาดใหญ่ ภายในกุฎิของท่าน กิตติคุณความขลัง และศักดิสิทธิ์ของน้ำพุทธมนต์เป็นที่เล่าเล่าขานเมื่อครั้งยุทธภูมิเข้าค้อ โดยมีผู้บังคับการจังหวัดทหารบกท่านหนึ่งซึ่งมีความเลื่อมใสเคารพ ศรัทธาในตัวท่านและมีความเชื่อถือในความเข้มขลังของน้ำพระพุทธมนต์ของท่านมาก ได้มาขอน้ำพระพุทธมนต์ ไปหนึ่งขวดแล้วนำไปใส่แทงค์น้ำดื่มสำหรับทหารที่ปฎิบัติการรบประจำการที่เขาค้อได้ดื่มซึ่งท่านเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของนำพระพุทธมนต์ของหลวงปู่สามารถคุ้มครองป้องกันภัยให้แก่เหล่าทหารได้

อีกสิ่งที่ชาวบ้านต้องมาคอยดูว่าท่านจะคายออกมาจากปากเมื่อไร สิ่งนั้นก็คือ “ชานหมาก” เพราะเหตุว่าชานหมากของหลวงปู่ ชาวบ้านหลายคน ได้รับไปแล้วน้ำติดตัวไปด้วยเสมอ จะพบประสบ การณ์ในด้านดี บางคนได้รับประสบการณ์ด้านอยู่ยงคงกระพันธ์ บางคนแคล้วคลาด แต่ส่วนใหญ่ที่ได้รับประสบการณ์จากชานหมากของหลวงปู่ก็คือ เมตตาหมานิยม และค้าขายดีซึ่งในขณะนั้นถึงแม้ว่าหลวงปู่จะเคี้ยวหมากทั้งวันแต่ไม่มีชานหมากติดกระติดกระโถนเลย และอีกสิ่งหนึ่งที่นิยมนำมาให้หลวงปู่ลงอักขระเลขยันต์และเป่าเสกก็คือ กล้วยสุก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหญิงมีครรภ์ที่นำมาให้หลวงปู่ทำให้ แล้วนำไปรับประทานจะทำให้คลอดบุตรง่ายและเด็กเกิดมาจะแข็งแรงดีทุกคน

“งานด้านพัฒนาและก่อสร้างศาสนสถาน” เมื่อมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท่าทองท่านได้รีบดำเนินโครงการพัฒนาวัดท่าทองทันทีเพราะสภาพวัดท่าทองในขณะนั้นทรุดโทรมเต็มที่ ไม่มีเสนาสนะและถาวรวัตถุ คงเป็นวัดเล็กๆ เท่านั้น ตลอดเวลาที่หลวงปู่ได้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสปกครอง วัดท่าทองได้พัฒนาเจริญรุ่งเรืองผิดไปจากสภาพเดิมอย่างไม่อาจเปรียบเทียบได้เริ่มต้นจากการขยายที่ดินของวัดซึ่งมีอย่างจำกัด งานก่อสร้างศาลาการเปรียญ โบสถ์ วิหาร กุฎิ โรงเรียนพระปริยัติธรรม ศาลาปฏิบัติธรรม กุฎิวิปัสสนากัมมัฎฐาน รั้วกำแพง เมรุเผาศพ และถาวรวัตถุอีกมากมายประกอบกับท่านเป็นผู้ที่มีความชำนาญในการออกแบบก่อสร้าง การอ่านแบบแปลน และดำเนินงานเอง จนเป็นที่ยอมรับในหมู่คณะสงฆ์ของจังหวัดอุตรดิตถ์

งานก่อสร้างของหลวงปู่มีมากมายเหลือที่จะพรรณาและสิ่งสำคัญมากที่หลวงปู่ภูมิใจยิ่งได้แก่ ที่ดินอันป็นกรรมสิทธิ์ที่อยู่ในความครอบครองของวัดขณะนี้ เดิมขณะที่หลวงปู่มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสที่ดินของวัดมีอยู่เพียง 3 ไร่เศษเท่านั้น ยากยิ่งต่อการพัฒนา หลวงปู่จึงได้ลงมือบุกเบิกที่ดินรอบบริเวณวัด ซึ่งเป็นป่ารกเเละหนองน้ำ หลวงปู่ได้อดทนอุตสาหะไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ประกอบกำได้กำลังศรัทธาของชาวบ้านบริจาคยกให้ รวมทั้งสิ้นประมาร 90 ไร่เศษ การก่อสร้าง ศาสนสถานภายในบริเวณวัดท่าทองหลวงปู่เป็นผู้กำหนดแบบ ควบคุม และลงมือด้วยตนเอง โดยมีพระภิกษุสามเณรและศรัทธาของประชาชน ให้ความร่วมมือด้วยดีเสมอมา

” ปาฏิหารย์มีจริง ” เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2548 หลวงปู่ได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ด้วยโรคชรา โดยคณะแพทย์ได้ให้การดูแลอย่างใกล้ชิด ที่ห้องพิเศษ 709 แต่เมื่อประมาณ 16.00 นาฬิกา ของวันที่ 1 สิงหาคม 2548 หลวงปู่มีอาการทรุดหนักจนน่าเป็นห่วง เนื่องจากภาวะไตเสื่อมและติดเชื้อทางเดินหายใจ คณะแพทย์โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ ต้องนำเข้าห้องซีซียู เพื่อรักษาอย่างเร่งด่วน แต่ทุกคนก็ต้องหมดหวัง เมื่อหัวใจและชีพจรของหลวงปู่หยุดเต้น ไม่มีการตอบสนองใดๆ คณะแพทย์ได้แจ้งให้ พระครูปลัดแดง ตปสีโล พระผู้ดูแลหลวงปู่ แจ้งญาติโยมด้วยว่า หลวงปู่มรณภาพแล้ว แต่ในส่วนของคณะแพทย์ยังไม่สิ้นความพยายาม ได้ใช้เครื่องปั้มหัวใจและยากระตุ้นหัวใจต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบสองชั่วโมง หลวงปู่ก็มีการตอบสนอง สร้างความแปลกใจและดีใจให้กับคณะแพทย์ พยาบาลและญาติโยมทั้งหลายที่รออยู่หน้าห้องซีซียูเป็นอย่างมาก ไม่เพียงแต่การตอบสนองด้วยการหายใจเท่านั้น หลวงปู่ยังกระพริบตาและรู้สึกตัว ทั้งก่อนหน้านี้ทุกคนที่มาเฝ้าดูอาการของหลวงปู่ ต่างสิ้นหวังและเข้าใจว่าหลวงปู่มรณภาพไปแล้ว และเช้าวันที่ 2 สิงหาคน 2548 คณะแพทย์ได้แจ้งให้ทุกคนทราบว่าอาการของหลวงปู่ดีขึ้นไม่น่าเป็นห่วง

นายปรีชา บุตรศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ในขณะนั้น ได้มาเยี่ยมหลวงปู่และได้ปรึกษากับคณะแพทย์โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ มีความเห็นว่าควรส่งตัวหลวงปู่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ต่อมาในวันที่ 3 สิงหาคม 2548 จึงได้นำตัวหลวงปู่มารักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพมหานคร

“ถึงเวลาละสังขาร” เวลา 21.17 นาฬิกา ของวันที่ 25 สิงหาคม 2548 หลวงปู่ได้มรณภาพอย่างสงบที่ห้องซีซียู โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หลังจากเข้ารักษาอาการอาพาตด้วยโรคภาวะไตเสื่อมและติดเชื้อทางเดินหายใจ สิริอายุ 107 ปี 86 พรรษา

“เทวดามารับ” หลังจากหลวงปู่มรณภาพ พยาบาลได้เคลื่อนย้ายสังขารของหลวงปู่จากห้องซีซียูมาเก็บไว้ที่ห้องพิเศษ 408 ตึกวชิรญาณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อรอการรับศพกลับวัดท่าทอง จังหวัดอุตรดิตถ์ แต่ในช่วงที่พยาบาลกำลังตบแต่งสังขารหลวงปู่อยู่นั้น ได้เกิดปาฏิหารย์ขึ้น โดยมีลำแสงสีขาวสว่างพุ่งเข้ามาบริเวณตึกวชิรญาณและลำแสงได้แยกเป็นลำแสงเล็ก 5 ลำแสงพุ่งสู่ท้องฟ้า เป็นเวลากว่า 10 นาที คณะแพทย์ พยาบาล และประชาชนที่อยู่บริเวณชั้น 4 ตึกวชิรญาณ ต่างมาเฝ้าดูด้วยความตื่นตะลึง หลายคนได้นำโทรศัพท์มือถือที่ติดกล้องถ่ายรูปมาถ่ายเก็บไว้ แต่หลังจากนำมาเปิดดูกลับไม่พบสิ่งใด มีแต่ภาพดำมืดไปหมด สร้างความมึนงงกับผู่ที่ถ่ายรูปไว้ทุกคนที่อยู่ในเหตุการณ์ต่างลงความเห็นว่า ลำแสงที่เห็นมีลักษณะคล้ายทางช้างเผือกที่เทวดาส่งมารับดวงวิญาณของหลวงปู่สู่สรวงสวรรค์

พลังศรัทธาหลั่งไหล เวลา 18.00 นาฬิกา ขบวนรถนำศพหลวงปู่มาถึงวัดท่าทอง โดยมีคณะสงฆ์ศิษยานุศิษย์และประชาชนจำนวนมากมารอรับ โดยได้อันเชิญศพหลวงปู่ตั้งบำเพ็ญกุศลที่ศาลาการเปรียญวัดท่าทอง เวลา 18.30 นาฬิกา ได้นำสังขารหลวงปู่บรรจุไว้ในโลงแก้วมุก ซึ่งหลวงปู่ได้จัดเตรียมไว้ล่วงหน้าหลายปีแล้ว ปัจจุบันสังขารหลวงปู่ยังคงบรรจุไว้ในโลงแก้วมุกจนถึงทุกวันนี้ ณ วัดท่าทอง บ้านท่าทอง ต.วังกะพี้ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับวัตถุมงคลที่หลวงปู่ทำพิธีปลุกเสกและจัดสร้างมีจำนวนหลายรุ่น ทุกรุ่นได้รับความนิยมจากผู้ศรัทธาและประชาชนทั่วไปเป็นจำนวนมาก แต่ที่ได้รับความศรัทธาและเสาะแสวงหามากที่สุดคือ สมเด็จเหล็กน้ำพี้ รุ่นแผ่นดินไหว ด้านหลังมียันต์และไม่มียันต์ สร้างขึ้นในปี 2513 เพื่อแจกให้กับญาติโยมทุกคนที่มาทำบุญที่วัดท่าทอง ปลุกเสกพร้อมกับเหรียญพระยาพิชัยดาบหัก รุ่น 2513 เช่นเดียวกัน เหรียญรูปไข่ รุ่นแรก อายุ 85 ปี จัดสร้างในปี 2529 และล็อคเก็ตรูปหลวงปู่ ด้านหลังบรรจุผงพุทธคุณ ผงชานหมากพร้อมเส้นเกศาหลวงปู่ทองดำ จัดสร้างในปี 2539 ทั้ง 3 รุ่นเป็นที่ต้องการของนักสะสมและเล่นหาในวงการพระ เพราะมีการจัดสร้างน้อย เด่นในด้านเมตตา ค้าขายและแคล้วคลาด ปัจจุบันมีราคาแพงขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในวันที่ 10 เมษายน 2567 นี้ นายประดิษฐ์ แก้วคำ พราหมณ์ประจำวัดท่าทอง ผู้ที่ได้รับการนับถือจากประชาชนทั่วไป และในพิธีทางศาสนพิธี พิธีบวงสรวงต่างๆ ผู้จัดสร้างท้าวเวสสุวรรณจากต้นไม้จันอิน ยืนต้นตาย อายุกว่า 100 ปี คู่บารมีหลวงปู่ทองดำ ได้เตรียมนำวัตถุมงคลที่สร้างด้วยไม้จันอิน เหลือจากการจัดสร้างท้าวเวสสุวรรณแกะสลักรูปเหมือนหลวงปู่ทองดำ  รูปหนุมานนั่งแท่น รูปฤษีนารอดหรือพ่อแก่นารอด ปลุกเสกโดยพระปลัดตะวัน อิทฺธิโชโต หรือ “พระอาจารย์แจ้” เจ้าอาวาสวัดน้อมประชาสรรค์ เกจิชื่อดังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย ฤษีตาไฟ เนื้อทองเหลือง สีผึ้งไก่เถื่อนมหาเสน่ห์ เด่นด้านเมตตา มหานิยม ค้าขายร่ำรวยและปกป้องคุ้มครอง ผู้ครอบครองให้แคล้วคลาดปลอดภัย นำออกมาให้บูชาเพื่อนำรายได้เข้าวัดท่าทอง.

Facebook Comments Box

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า