Getting your Trinity Audio player ready...
|
“ครั้งแรก” อุตรดิตถ์อัญเชิญหลวงพ่อทันใจ พระพุทธรูปปางสมาธิ เนื้อไม้จันทร์หอม หน้าตักกว้าง 80 เซนติเมตร สูง 2 เมตร สมัยล้านช้าง อายุกว่า 700 ปี สิ่งศักดิ์สิทธิคู่วัดดอยแก้ว ต.แสนตอ ให้ข้าราชการและประชาชน ร่วมสรงน้ำ ขอพร กราบไหว้ ณ จวนพ่อเมือง บรรยากาศ สนุกสนานเฮฮา วันสงกรานต์
เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 ที่อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ นำพวงมาลัยดอกมะลิ วางที่ข้อพระกร-ดาบข้างซ้าย อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก พร้อมนำผ้าสี ผูกรัดรอบเอวและนำน้ำปรุงหอม ผสมดอกมะลิ สรงบริเวณองค์อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก เพื่อเป็นการถวายสักการะ เนื่องในวันสงกรานต์ ดิถีปีใหม่ไทย ประจำปี 2567 ขอให้ประชาชนคนไทยและชาวอุตรดิตถ์ มีความสุขถ้วนหน้า ทำการค้าขายราบรื่น มีทรัพย์สินเงินทองไหลมาเทมา ปราศจากอุปสรรค ปัญหาทั้งปวง คิดสิ่งใด ขอให้สมปรารถนาทุกประการ
นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้อัญเชิญพระพุทธรูปหลวงพ่อทันใจ พระพุทธรูปแกะจากเนื้อไม้จันทร์หอม ปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 80 เซนติเมตร สูง 2 เมตร ศิลปะสมัยล้านช้าง อายุกว่า 700 ปี ลงรักปิดทอง ฝีมือแกะและสร้างโดยช่างหลวง เมืองหลวงพระบาง สปาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ถูกเก็บรักษาเอาไว้ที่วัดดอยแก้ว หมู่ 4 ต.แสนตอ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ ตั้งแต่ก่อนการก่อสร้างพระอุโบสถ์ โดยนายนิกร กล่ำทอง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแสนตอ พร้อมชาวบ้านตำบลแสนตอ พร้อมใจกันอัญเชิญมาให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ หัวหน้าหน่วยงานราชการ ภาครัฐระดับจังหวัดและอำเภอ ภาคเอกชน ข้าราชการ พ่อค้าและประชาชน ได้ร่วมพิธีสรงน้ำพระพุทธรูปหลวงพ่อทันใจ เพื่อความเป็นสิริมงคล เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของพี่น้องประชาชนชาวอุตรดิตถ์ เนื่องในเทศกาลวันสงกรานต์ ที่บริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์
นายศิริวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมด้วย นางสายสมร ทองกองทุน นายกเหล่ากาชาดจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ร่วมฟ้อนรำนำหน้าขบวน มีขบวนแห่กลองมังคละบรรเลงเพลง พร้อมนางรำข้าราชการ ภาคเอกชน พ่อค้า ประชาชน ร่วมฟ้อนรำในขบวน และขบวนน้ำอบ น้ำหอมปรุง เดินจากหน้าอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ไปจนถึงจวนผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ด้วยระยะทางประมาณ 300 เมตร
ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ประธานในพิธีเปิดงานพิธีรดน้ำดำหัว สืบสานวัฒนธรรมประเพณีสงกรานต์ วิถีไทย “สาดฉ่ำ ให้หนำใจ สงกรานต์ไทย ของแทร่” พร้อมกล่าวข้อความตอนหนึ่งว่า รู้สึกดีใจ ที่เราร่วมด้วยช่วยกันอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีสงกรานต์ กลองมังคละ กลองที่เป็นมงคลต้อนรับสิ่งที่เป็นมงคลเข้ามา เชื่อว่าปีใหม่นี้ความเป็นมงคลต่างๆ ของอุตรดิตถ์ จะบังเกิด ด้วยแรงกายแรงใจของพวกเราที่ได้ร่วมกัน วันนี้ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พวกเราทุกคนได้มาร่วมกันเป็นพลังสำคัญ ที่จะช่วยพัฒนา ดังที่พูดอยู่เสมอว่า “อุตรดิตถ์นั้นเป็นเมืองรอง แต่เราไม่รองใคร” จึงขอให้ร่วมด้วยช่วยกันตลอดไป
วันสงกรานต์เป็นวันเริ่มศักราชใหม่ ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย รวมถึงดวงวิญญาณของท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหัก ดลบันดาลให้ทุกท่านประสบคำว่า “สิ่งที่ดี คำว่า ตกต่ำอย่าได้มี ความไม่มีอย่าได้กำเนิด ขอให้หมดโรคภัย อันตรายใดอย่างได้กล้ำกราย คิดค้าขายขอให้เงินไหลคล่อง ไหลล้นพ้นความลำบากยากจน นอนกรน ขอให้ได้เงินหมื่น ตอนตื่นขอให้ได้เงินแสน ปรารถนาสิ่งใดขอให้สมหวังทุกประการเทอญ” ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวอวยพร
ด้าน นายนพฤทธิ์ ศิริโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้นำข้าราชการจากหน่วยงานราชการระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ข้าราชการทหาร ตำรวจ ภาคเอกชน พ่อค้าและประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ที่มาร่วมงานสรงน้ำพระ ขอพรผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีสงกรานต์ของไทยที่ปฏิบัติต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาช้านาน เป็นการแสดงออกถึงความรัก ความเคารพ ความกตัญญูต่อผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ถือเป็นพ่อเมืองของจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อเป็นการสืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ไทย และวันเริ่มศักราชใหม่ ในนามของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ภาคเอกชนและประชาชนชาวจังหวัดอุตรดิตถ์
ขอกล่าวคำ ขอขมาผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ด้วยกรรมใดๆ ทั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ตั้งใจก็ดี ไม่ได้ตั้งใจก็ดี ทั้งต่อหน้าก็ดี ลับหลังก็ดี ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้โปรดยกโทษอันเป็นบาปอกุศล และอโหสิกรรม ให้แก่ปวงข้าพเจ้าทั้งหลาย เนื่องในเทศกาลสงกรานต์และวันขึ้นปีใหม่ของไทย ปี 2567
จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้เป็นประธานสรงน้ำพระพร้อมขอพร ได้นำพวงมาลัยดอกมะลิถวาย พร้อมกราบไหว้ หลวงพ่อทันใจ พระพุทธรูปปางสมาธิ เนื้อไม้จันทร์หอม สมัยล้านช้าง อายุกว่า 700 ปี และพระพุทธรูปหินหยก เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและครอบครัว พร้อมขอให้ประชาชนชาวอุตรดิตถ์ พบแต่ความสุข โดยมีนายนพฤทธิ์ ศิริโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ นายสหวิช อภิชัยวิศรุตกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดและอำเภอ ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ ภาครัฐ-เอกชน พ่อค้า ประชาชน จำนวนกว่า 500 คน เข้าร่วมสรงน้ำหลวงพ่อทันใจ พระพุทธรูปไม้จันทร์หอมและพระพุทธรูปหยก รวมถึงร่วมสรงน้ำขอพร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดอุตรดิตถ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์และรองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นอันเสร็จพิธี บรรยากาศเป็นไปอย่างสนุกสนานเฮฮา ทั้งหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดและอำเภอ ได้พบปะรดน้ำดำหัวให้อภัยต่อสิ่งที่ผ่านมาในรอบปี เข้าสู่ปีใหม่ ขออำนวยพรให้มีความสุขทั้งครอบ ครัว หน้าที่การงานมั่นคงสถาพร เป็นที่เคารพรักนับถือต่อผู้ใหญ่ ได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง เลื่อนขั้นในเร็ววัน
นายนิกร กล่ำทอง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแสนตอ กล่าวว่า ตนพร้อมด้วยชาวบ้านตำบลแสนตอ ได้กราบอัญเชิญพระพุทธรูปหลวงพ่อทันใจ พระพุทธรูปแกะจากเนื้อไม้จันทน์หอม ปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 80 เซนติเมตร สูง 2 เมตร ศิลปะสมัยล้านช้าง อายุกว่า 700 ปี ลงรักปิดทอง ฝีมือแกะและสร้างโดยช่างหลวง เมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว ลักษณะพระเกตุเปลวเพลิง ใบหน้าและตัวองค์พระ มีความสมส่วนงดงามมาก ไม่เคยเห็นพระพุทธรูปไม้ใดงดงามแบบนี้มาก่อน เดิมถูกเก็บรักษาเอาไว้ที่วัดดอยแก้ว หมู่ 4 ต.แสนตอ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ ตั้งแต่ก่อนการก่อสร้างพระอุโบสถ์วัดดอยแก้ว เมื่อปี พ.ศ. 2475 พระอุโบสถหลังเดิมใช้อิฐและศิลาแลงจากวัดทุ่งอ้อม ชื่อของพระอุโบสถยังปรากฏลายรดน้ำ ฝีมืองดงาม
นายนิกร กล่าวว่า สำหรับที่บริเวณฐานองค์พระหรือฐานบัลลังก์หรือฐานผ้าทิพย์ มีจารึกว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2326 ตรงกับในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ฐานผ้าทิพย์จัดสร้างเพื่อรองรับตัวองค์หลวงพ่อทันใจ ให้มีความเด่นสง่างดงามยิ่งขึ้น มีการเจาะรูร้อยโซ่ห่วงคู่เอาไว้ทั้งด้านหน้าและด้านหลังของฐานผ้าทิพย์ เพื่อสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายด้วยช้าง ยังพื้นที่ตามหัวเมืองหรือชานเมืองที่มีศึกสงคราม เพื่อให้ทหารหรือนักรบได้กราบไหว้บูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลและเป็นขวัญกำลังใจในการสู้รบยามศึกสงคราม
” ในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ พระพุทธองค์ทรงอนุโมทนาด้วย ที่นิยมนำไม้จันทร์(แก่นจันทร์หอม) มาสร้างพระพุทธรูป สื่อถึงความร่วมเย็นเป็นสุข สุขภาพร่างกายแข็งแรง ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ จึงมีการนำไม้จันทร์หอม มาสร้างเป็นพระพุทธรูปในเวลาต่อมา
ไม่มีหลักฐานชัดเจนระบุว่า หลวงพ่อทันใจ พระพุทธรูป แกะด้วยไม้ ยุคสมัยล้านช้าง อายุกว่า 700 ปี ผู้ใดหรือใครเป็นผู้นำมาเก็บรักษาไว้ที่วัดดอยแก้ว แต่ชาวบ้านในพื้นที่นับถือกราบไหว้และถือได้ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคู่บ้านคู่เมืองของคนในพื้นที่ พร้อมกับพระพุทธรูป ยุคสมัยกรุงรัตนโกสินทร์อีกจำนวนมาก ทั้งหมดถูกย้ายมาเก็บรักษาเอาไว้ ที่สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลแสนตอ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นการชั่วคราว เพื่อรองบประมาณจัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์เก็บรักษาเอาไว้ให้กับลูกหลานต่อไป นายนิกร กล่าว.