Getting your Trinity Audio player ready...
|
รพ.อุตรดิตถ์พบปะพี่น้องสื่อมวลชนท้องถิ่น ฟังปัญหาการฆ่าตัวตายและการรับบริจาคโลหิต รณรงค์ประชาสัมพันธ์ การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน “ความรู้สึกอยากฆ่าตัวตาย ผู้ป่วยสามารถรักษาได้” โรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว โรควิตกกังวล โรคจิตเภท โรคบุคลิกภาพแปรปรวน ผู้ป่วยติดสุราและสารเสพติด โรคเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคเอดส์ ภาวะเจ็บปวดเรื้อรัง ปัญหาความสัมพันธ์และหนี้สิน
วันที่ 7 มิ.ย.67 ที่ห้องประชุมมเหสักข์โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ นายแพทย์อายุส ภมะราภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ เชิญสื่อมวลชนร่วมรับฟังปัญหาเนื่องจากการฆ่าตัวตายและการรับบริจาคโลหิตของโรงพยาบาลจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมีสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุตรดิตถ์, สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดอุตรดิตถ์ สังกัดสำนักงานประชาสัมพันธ์เขต 4 กรมประชาสัมพันธ์ ตลอดจนคณะสื่อมวลชนท้องถิ่น จ.อุตรดิตถ์ อาทิ สื่อทีวี สื่อสถานีวิทยุและสื่อออนไลน์ เข้าร่วมโครงการนี้เป็นจำนวนมาก
นายแพทย์อายุส ภมะราภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ กล่าวว่า ด้วยปัจจุบันอัตราการฆ่าตัวตายของจังหวัดอุตรดิตถ์ มีตัวเลขที่สูงทางโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ จึงขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ช่วยรณรงค์ประชาสัมพันธ์ การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนว่าการมีความรู้สึกอยากฆ่าตัวตายคือผู้ป่วยที่สามารถรักษาได้ ไม่ใช่ผู้ป่วยทางจิตสาเหตุที่พบบ่อยเกิดจาก 1.โรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว โรควิตกกังวล โรคจิตเภท 2.โรคบุคลิกภาพแปรปรวน 3.ผู้ป่วยติดสุราและสารเสพติดเช่นยาบ้า กัญชา ที่ใช้จนมีอาการทางจิต 4.ผู้ป่วยโรคเรื้อรังทางร่างกายที่รักษาไม่หายเช่นโรคมะเร็งโรคเอดส์ 5.ภาวะเจ็บปวดเรื้อรัง 6.ปัญหาความสัมพันธ์และหนี้สิน
“สัญญาณเตือนการฆ่าตัวตายที่สามารถสังเกตได้และให้ความช่วยเหลือได้ แบ่งได้เป็น 2 สัญญาณเตือนคือ สัญญาณเตือนที่ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด สัญญาณเตือนนี้ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเข้าหาสนทนาพูดคุยเพื่อรับฟังไม่ตำหนิไม่ตัด สิน แต่ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความทุกข์ใจและประเมินแนวโน้มการฆ่าตัวตายด้วย สัญญาณเตือนจะสามารถสังเกตได้ดังต่อไปนี้ 1.พูดว่าอยากตายหรือไม่อยากมีชีวิตอยู่ 2.สื่อสารด้วยภาษาหรือท่าทีพฤติกรรมแสดงความสิ้นหวังพ่ายแพ้ล้มเหลวหรือสูญเสียเป้าหมายของการมีชีวิตอยู่ 3.สื่อสารด้วยภาษาหรือท่าทีพฤติกรรมการแสดงถึงความรู้สึกอับจนหนทาง 4.สื่อสารด้วยภาษาหรือท่าทีพฤติกรรมแสดงความรู้สึกว่าตนเองไม่มีค่าเป็นภาระของผู้อื่น 5.มีวิกฤตชีวิตหรือเรื่องทุกข์ใจแล้วดื่มสุราหรือใช้สารเสพติดมากขึ้น 6.ออกห่างจากเพื่อนฝูงครอบครัวหรือสังคม“
นายแพทย์อายุส กล่าวว่า สำหรับสัญญาณเตือนที่วิกฤตเร่งด่วนซึ่งสัญญาณนี้ต้องตอบสนองทันที ต้องรีบเข้าระงับยับยั้งและติดต่อทีมสาธารณสุข เพื่อนำเข้าตรวจรักษาเฝ้าระวังในสถานพยาบาลเช่น 1.ขู่จะทำร้ายหรือฆ่าตัวตาย 2.พยายามหาวิธีฆ่าตัวตาย 3.พูดหรือเขียนข้อความสั่งเสียเช่นขอลาทุกคนขอบคุณในทุกสิ่งรวมถึงการพูดเขียนเรื่องความตายกำลังจะตายหรือการฆ่าตัวตาย 4.เตรียมความพร้อมที่จะตายเช่นพูดจาฝากฝังคนข้างหลัง แจกของรักให้คนอื่น อารมณ์เปลี่ยนไปจากซึมเศร้าหรือหงุดหงิดมานานเป็นสบายใจสดชื่นอย่างผิดหูผิดตาการเฝ้าสังเกตผู้ป่วย จะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้
ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมดังกล่าวนี้ ไม่ใช่ผู้ป่วยที่เป็นโรคจิต แต่เป็นผู้ป่วยที่สามารถรักษาได้ขอให้นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ หรือเจ้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านและสามารถเรียกรถพยาบาลได้ที่สายด่วน 1669 สำหรับกลุ่มอายุที่พยายามฆ่าตัวตายในอัตราที่สูงคือกลุ่มวัยรุ่นวัยเรียนที่มีอายุระหว่าง 15-19 ปี คือช่วงที่เรียนอยู่มัธยมปลายและอุดมศึกษาปีที่ 1 ส่วนเรื่องการรับบริจาคโลหิตของโรงพยาบาลอุตรดิตถ์นั้น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ ได้ชี้แจงว่าโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ มิได้ขาดแคลนโลหิตแต่ประการใดแต่ต้องการรับบริจาคโลหิตเพื่อนำโลหิตที่รับบริจาคมาทดแทนโลหิตที่ถูกใช้ไปจึงขอฝากสื่อมวลชนช่วยชี้แจงให้กับประชาชน ได้เข้าใจอย่างถูกต้องด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในส่วนของสื่อมวลชนยินดีให้การสนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์กับโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ ด้วยดีและ ได้เสนอแนะข้อคิดเห็นหลายประการ เพื่อร่วมกันพัฒนาการปฏิบัติงานของโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ ให้เป็นโรงพยาบาลที่มีคุณภาพในการตอบสนองผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้นจากเดิมที่มีคุณภาพดีอยู่แล้ว