Getting your Trinity Audio player ready...

ครั้งแรกในอุตรดิตถ์ 3 ส.ส.พรรคเพื่อไทย ยก“กรมป่าไม้” ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค มาไว้ในพื้นที่ อบรมให้ความรู้หน่วยงานราชการ สำนักพุทธฯ ที่ดิน สาธารณสุขจังหวัด โยธาธิการและผังเมือง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล อ.บ.ต. 9 อำเภอ พร้อมตั้งโต๊ะตรวจสอบเอกสาร 1,834 คำขอ ใช้ที่ดินป่าไม้ถาวร ป่าสงวนแห่งชาติและป่าตาม พ.ร.บ.2484 ใช้ประโยชน์แก่ส่วนรวม ปรับปรุงซ่อมแซมหรือก่อสร้าง ถนน ไฟฟ้า ประปา ฝายน้ำ ขุดลอกคลอง เสนาสนะ กุฏิ วิหาร ศาลา ที่พักสงฆ์ สำนักสงฆ์และวัด ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ตามอำนาจอธิบดี สำนักจัดการป่าไม้และศูนย์ป่าไม้ ลดขั้นตอนยุ่งยาก ปัญหายืดเยื้อนานเกินจะรอได้ พร้อมนำระบบแอพพลิเคชั่นไลน์มาใช้ต้นปีงบประมาณ 2568 นี้

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2567 ที่ห้องบอลรูม โรงแรมสีหราช จังหวัดอุตรดิตถ์ นายสุรชัย  อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวเปิด “โครงการประชุมเร่งรัดติดตามการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ ท้องที่จังหวัดอุตรดิตถ์” ให้กับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์, สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดอุตรดิตถ์, สำนักงานที่ดินจังหวัดอุตรดิตถ์, สำนักงานสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุตรดิตถ์, สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดอุตรดิตถ์, องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดอุตรดิตถ์ ระดับ อ.บ.ต.และเทศบาล ทั้ง 9 อำเภอ มีหน่วยงานของรัฐยื่นคำขอตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 รวมจำนวน 1,834 คำขอ มีความคืบหน้าในการอนุมัติ การอนุญาต เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนและกระบวนการอนุญาตให้กับผู้ขออนุญาต

โดยผู้ขออนุญาตติดตามสถานะยื่นคำขอไว้กับทางกรมป่าไม้ ด้านการอนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้ อาทิ 1. ป่า 2484 การขออนุญาตและการอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ดำเนินการตามกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทำประโยชน์ในเขตป่า พ.ศ. 2558 โดย กำหนดให้ยื่นคำขอที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ท้องที่ อำนาจการอนุญาต 1.ป่า 2484 อำนาจในการอนุญาตเป็นของอธิบดีกรมป่าไม้, ป่าไม้ถาวรที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้รักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ อำนาจในการอนุญาตเป็นของอธิบดี โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยา กรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2.ป่าสงวนแห่งชาติ การขออนุญาตและการอนุญาตตามพระราชบัญ ญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ดำเนินการตามระเบียบคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2564 ที่ออกตามความในมารตรา 13/1 มาตรา 16 และมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 โดยกำหนดให้ยื่นคำขอที่สำนักงานทรัพยากรธรรม ชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด โดยอำนาจในการอนุญาตเป็นของอธิบดีโดยความเห็นชอบคณะกรรม การพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ

ทั้งนี้ มีปริมาณคำขอตามมติฯ ทั่วประเทศของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ได้เข้าทำประ โยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาต ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564  จำนวน  137,444  คำขอ แบ่งเป็น 1.คำขอในเขตป่าสงวนแห่งชาติ  จำนวนทั้งสิ้น 93,706  คำขอ, 2.คำขอในเขตป่า 2484  จำนวนทั้งสิ้น 43,738  คำขอ

สำหรับจังหวัดอุตรดิตถ์ มีคำขอของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ได้เข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาต ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564  จำนวน  1,834  คำขอ แบ่งเป็นในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 1,636  คำขอ พื้นที่ในเขตป่า 2484  จำนวน 198  คำขอ ได้รับการอนุญาตแล้ว จำนวน 28  คำขอ อยู่ระหว่างการตรวจสภาพป่ารวมถึงขอความเห็นผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ และรายงานกรมป่าไม้ จำนวน 567 คำขอ นอกจากนี้ยังพบเอกสารประกอบไม่ครบถ้วน จำนวน 1,129  คำขอ

ในกรณีกรณีคำขอในเขตป่าสงวนแห่งชาตินั้น ต้องเสนอคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พิจารณาให้ความเห็นชอบ กรณีคำขอในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม Zone C เมื่อคณะกรรมการฯ ให้ความเห็นชอบแล้ว ต้องเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาอนุมัติ และสำหรับกรณีคำขอที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่1A ก่อนกรมป่าไม้พิจารณาต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น1A

สำหรับความคืบหน้าของคำขอการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัย ในเขตป่าสงวนแห่ง ชาติ เพื่อดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (ค.ท.ช.) ท้องที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ขออนุญาตในเขตป่าสงวนแห่งชาติ (กลุ่ม 1) จำนวน  12 คำขอ มีเนื้อที่ 56,049 ไร่ อนุญาตแล้วจำนวน 8 คำขอ  เนื้อที่  39,400  ไร่  ทั้ง 8 คำขอ ที่ได้รับอนุญาตแล้ว ส่วนราชการใดที่จะเข้าไปพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า แหล่งน้ำ ในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตทั้ง 8 คำขอดังกล่าว สามารถดำเนินการได้ตามแนวทางหนังสือกรมป่าไม้ ที่ ทส.1602.52/18792 – 18793 ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2561 ตามอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดและได้รายงานผลให้กรมป่าไม้ทราบแล้วสำหรับอีก 4 คำขอที่เหลือ อยู่ระหว่างการขอข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาออกหลักฐานการอนุญาตต่อไป

ทางกรมป่าไม้มีแนวทางการขับเคลื่อนเร่งรัด ลดขั้นตอน คำขอตามมติคณะรัฐมนตรี โดยอธิบดีกรมป่าไม้ ให้หน่วยงานด้านการอนุญาตในระดับพื้นที่ ขับเคลื่อนงานด้านการอนุญาตในพื้นที่ กรมป่าไม้ ได้จัดตั้งส่วนการอนุญาต การแบ่งงานภายในสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1–13 และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ (สาขา) เพื่อเป็นการลดขั้นตอนการพิจารณาคำขอตามมติคณะรัฐมนตรี ทางอธิบดีกรมป่าไม้ ได้มอบอำนาจให้ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1–13 และสำนักจัด การทรัพยากรป่าไม้สาขาทุกสาขา เป็นผู้พิจารณาอนุญาตคำขอดังกล่าวในเขตป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 วัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในทางราชการและเพื่อให้การพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้กับราษฎรที่ครอบครองทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติตามนโยบายรัฐบาล (ค.ท.ช.) หรือราษฎรบริเวณใกล้เคียง “อธิบดีกรมป่าไม้” ได้มอบอำนาจให้ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 – 13 และผู้ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้สาขาทุกสาขาปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมป่าไม้

“กรมป่าไม้” ได้กำหนดให้มีการจัดประชุมในวันนี้ เพื่อเป็นการทำความเข้าใจให้กับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ รวมถึงประชาชนได้ทราบถึงการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของกรมป่าไม้ เพื่อเร่งรัดติดตามการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้พร้อมทั้งซักซ้อมการสร้างความรับรู้ความเข้าใจ ในทางปฏิบัติเกี่ยวกับกฎระเบียบ กฎหมาย และมติคณะ รัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาการเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องดังกล่าวได้รับทราบถึงแนวทางปฏิบัติของกรมป่าไม่และหน่วยงานราชการที่ยื่นคำขอพร้อมติดตามเรื่องคำขอที่ได้ยื่นเอาไว้กับทางกรมป่าไม้ โดยมีนายศิริวัฒน์  บุปผาเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ นายนพฤทธิ์  ศิริโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ นายชัยศิริ  ศุภรักษ์จินดา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมด้วย น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ ส.ส.อุตรดิตถ์ เขต1 นายวารุจ  ศิริวัฒน์ ส.ส.อุตรดิตถ์ เขต2 นายรวี  เล็กอุทัย ส.ส.อุตรดิตถ์ เขต3 พร้อมด้วยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้นำท้องถิ่นระดับเทศบาล ระดับ อ.บ.ต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ รวมจำนวนทั้งสิ้นกว่า 200 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดประชุมเร่งรัดติดตามการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าไม้ถาวรและในเขตป่า2484 รวมถึงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (ค.ท.ช.) บรรยากาศเป็นไปอย่างกันเอง นายสุพจน์จน์ ภู่รัตนโอภา รองอธิบดีกรมป่าไม้ ชี้แจงแนวทางการปฏิบัติงานของกรมป่าไม้ การยื่นคำขอใช้ที่ดิน การติดตามการขอใช้ที่ดินของหน่วย งานภาคราชการพร้อมตอบข้อซักถามของท้องถิ่นต่อที่ประชุม ให้เข้าใจได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ นายศิริวัฒน์  บุปผาเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้กล่าวทักทายผู้นำท้องถิ่นและตัว แทนท้องถิ่นที่เข้าร่วมประชุม ก่อนเปิดการประชุมว่า จังหวัดอุตรดิตถ์ จัดกิจกรรมจังหวัดเคลื่อนที่เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน ท้องถิ่นองค์การบริหารส่วนตำบลหรือ อ.บ.ต.อยากขุดลอกระบายน้ำ อยากทำระบบประปาและสิ่งอื่นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน แต่ไม่มีโครงการนำเสนอ เพื่อการพัฒนาให้กับประชาชนในพื้นที่อยู่ในมือตัวเอง จึงทำให้เสียโอกาส

“โครงการในวันนี้ ส.ส.อุตรดิตถ์ 3 ท่าน ได้เชิญอธิบดีกรมป่าไม้พร้อมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากกรมป่าไม้มาชี้แจง ทำให้ความพร้อมของโครงการในท้องถิ่นต่างๆได้มีความพร้อมมากยิ่งขึ้น การของบเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น หรืองบพัฒนาจังหวัดอุตร ดิตถ์ ปัญหาคือการขอใช้พื้นที่ตามมติคณะรัฐมนตรี ที่ได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2563 กำลังเจ้าหน้าที่มีอยู่ไม่เพียงพอ จำเป็นต้องใช้พลังท้องถิ่นนำช่างมาอบรมเรียนรู้เรื่องแผนที่ปักหมุดหรือมาร์คจุดพื้นที่ของโครงการ เพื่อเป็นการทุนแรงช่วยเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ทำให้โครงการต่างๆสำเร็จลงได้”

นายศิริวัฒน์  กล่าวว่า จังหวัดอุตรดิตถ์ มีคำร้องขอใช้พื้นที่กว่า 1,834 คำขอหรือโครงการ และยังที่ส่วนที่ตกหล่น ที่ตกหล่นเป็นเพราะว่าท้องถิ่นไม่เข้าใจ ในมติคณะรัฐมนตรีได้แจ้งบอกว่า ทุกสิ่งที่เป็นโครงการของส่วนราชการ ที่ดำเนินการไปแล้วโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ทำเรื่องขอ ซึ่งทางเจ้า หน้าที่ป่าไม้จะมาทำความเข้าใจและชี้แจงว่า สิ่งก่อสร้างทั้งหลายที่ได้ทำไปก่อนแล้วโดยไม่ได้รับอนุญาต และได้ทำเรื่องขออนุญาตแล้วกลุ่มนี้จะทำอย่างไร หากยังไม่ได้รับอนุญาตสิ่งก่อสร้างที่ชำรุดเสียหาย จะนำเงินไปซ่อมแซมกลายเป็นไม่ใช่ทรัพย์สิน ทำให้คาราคาซังเกิดความเสียหาย ในการยื่นเรื่ององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นหรือส่วนราชการใดยังทำไม่ครบ ต้องเติมเอกสารให้ครบ ส่วนที่เอกสารครบ แผนที่ครบและอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมป่าไม้ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นก็ต้องฟังคำชี้แจงจากกรมป่าไม้ว่า จะให้ทำอย่างไรในระหว่างรอ เบื้องต้นที่ทราบจากอธิบดีกรมป่าไม้ว่า มีเรื่องอยู่ในมือแล้วอยู่ระหว่างตรวจสอบ หากข้อมูลที่ส่งมาจากท้องถิ่นครบถ้วนสม บูรณ์ ทางอธิบดีกรมป่าไม้ จะเร่งรีบพิจารณาให้ทันที

นายนพฤทธิ์  ศิริโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า จังหวัดอุตรดิตถ์จะเป็นหน่วยรับเรื่องจากพื้นที่ ให้ความเห็นในนามของผู้ว่าราชการจังหวัด ส่งไปยังกรมหรือสำนักต่อไป ที่ผ่านมามีคำขอใช้พื้นที่ป่าไม้ค่อยข้างเยอะมากเป็นหลักพันคำขอ ในส่วนของ อ.บ.ต.หรือเทศบาลที่ต้องการ สร้างโครงสร้างพื้นฐานในเขตป่าหรือเป็นที่ตั้งของหน่วยงาน บางแห่งยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้องเป็นเรื่องของหน่วยงานต่างๆที่เข้าไปทำในพื้นที่ที่จะสร้างหรือพัฒนาให้เกิดขึ้นเช่น ด่านชายแดนภูดู่ หรืออ่างเก็บน้ำ ล่าสุด ส.ส.ได้ผลักดันให้มีอ่างน้ำปาดขึ้นมา ซึ่งอยู่ในเขตป่าเช่นเดียวกัน ทั้งป่าอุทยานและป่าของกรมป่าไม้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่จำเป็น อีกทั้งปัจจุบันนี้การใช้งบประมาณของทางราชการ ไม่สามารถใช้ได้อย่างสะดวกสบายเหมือนเมื่อก่อน ถึงแม้นว่าเราจะไปทำด้วยเจตนาบริสุทธิ์และเป็นประโยชน์ก็จริง  ระเบียบกฎหมายก็ต้องดำเนินการให้ถูกต้อง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ ส.ต.ง.ก็จะเข้า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ก็จะตรวจ สำนักงบประมาณมาก็จะไม่อนุมัติงบประมาณให้

เดี๋ยวนี้เวลาของบประมาณหลักการที่สำคัญคือ ต้องได้รับการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ไม่ว่าจะเป็นที่ป่าไม้หรือเป็นพื้นที่ป่า ดังนั้นจึงเป็นปัจจัยหนึ่งหรือจิกซอที่จะประกอบให้การพัฒนาการเดินไปได้ นอกจากนี้ในส่วนของตนเองก็ได้รับฝากจากหลวงพ่อ เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ ฝากมาด้วยว่า คำขอของวัดในเขตป่ามีหลายวัดที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ท่านขอความเมตตาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดำเนินการเร่งรัดให้ด้วย วันนี้จึงเป็นโอกาสอันดี ที่ทางอธิบดีกรมป่าไม้ลงพื้นที่ด้วยตนเองและพบปะกับผู้นำท้องที่ผู้นำท้องถิ่นและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าต่อจากนี้ไป คำขอต่างๆที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ จะสามารถดำเนินการไปได้แล้วเสร็จภายในเร็ววัน เพื่อให้การพัฒนาไปด้วยความรวดเร็วและเรียบร้อยถูกต้องตามระเบียบกฏหมายต่อไป นายนพฤทธิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าว

ขณะเดียวกัน นายสุรชัย  อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวเสริมว่า ก่อนเข้าประชุมเร่งรัดติดตามการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ ให้กับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้มีการพูดคุยกับทางกองการอนุญาต ผู้อำนวยการสำนักและผู้อำนวยการศูนย์ฯว่า เรื่องของวัดอยากให้สำนักงานพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นต้นเรื่องในการขออนุญาต วัดทั่วประเทศที่อยู่ในเขตป่ามีจำนวนกว่า 10,000 แห่ง ทางสำนักพุทธศาสนาจะต้องเป็นเจ้าภาพหลักในการยื่นคำขอ เมื่อก่อนเคยเก็บค่าธรรมเนียมกับวัด เดี๋ยวนี้ได้ยกเลิกไปหมดแล้ว

ในส่วนของการอนุญาตเกี่ยวกับการขอใช้พื้นที่ป่าเพื่อการก่อสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กนั้น ให้ผู้อำ นวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่3 (ลำปาง) ใช้มาตรา 19 ได้เลย ไม่ต้องถึงอธิบดีกรมป่าไม้ ผู้ขอในฐานะส่วนราชการสามารถเขียนโครงการร่วมกันได้เลย ในเรื่องของป่าไม้ 2484 ตนได้มอบอำนาจลงมาที่ผู้อำนวยการสำนักฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นเรื่องจะไม่เข้าไปถึงกรมป่าไม้ จะอยู่แค่ ผู้อำนวยการสำนักฯ ซึ่งเดิมจำกัดส่วนราชการ 20 ไร่ วัด 15 ไร่ ตอนนี้ไม่ได้จำกัดแล้ว จะขอ 100 ไร่ หรือ 50 ไร่ ก็อยู่ที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่3 (ลำปาง) เป็นการลดขั้นตอนและระยะเวลา ในเรื่องของการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่า 2484 ตนได้สั่งการให้ใช้ทำผ่านระบบแอพพิเคชั่นไลน์ ต่อไปไม่ต้องยื่นที่สำนักงานป่าไม้ สามารถยื่นเข้าสู่ระบบผ่านระบบแอพพิเคชั่นไลน์ได้ทันที พร้อมตรวจสอบเช็คข้อมูลได้ว่าเอกสารที่ยื่นคำขอใช้พื้นที่ป่าไม้ไปแล้วนั้นขาดอะไรบ้าง ตอนนี้อยู่ขั้นตอนการศึกษาเรื่องระบบ คาดว่าสามารถใช้งานจริงได้ในช่วงต้นปีงบประมาณ 2568 นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ ส.ส.อุตรดิตถ์ เขต1 นายวารุจ  ศิริวัฒน์ ส.ส.อุตรดิตถ์ เขต2 นายรวี  เล็กอุทัย ส.ส.อุตรดิตถ์ เขต3 ประชุมชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ของการจัดการประชุมครั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจอันดีให้กับส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าไม้ถาวรและ พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 เป็นการยื่นคำขอใช้พื้นที่ได้อย่างถูกต้องตามระเบียบกฏหมาย พร้อมติดตามคำขอที่ได้ยื่นเรื่องไปแล้วจนกระทั่งได้รับอนุญาต ผ่านผ่านระบบแอพพลิเคชั่นไลน์ โดยขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล และ อ.บ.ต.เร่งรีบดำเนินการในส่วนนี้ เพื่อนำงบประมาณออกมาใช้พัฒนาความเจริญให้กับพื้นที่เกิดประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวมต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  นายมรกต อินทรภู่ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดอุตรดิตถ์, นายประสิทธิ์ ท่าช้าง ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่3 (ลำปาง), นายจิตรกร  ศรีจันทร์ ผู้อำนวยการส่วนการอนุญาต สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง), และ นายนเรศ นนท์คลัง ผู้อำนวยการศูนย์ป่าไม้อุตรดิตถ์, นายสุทธิรัตน์ จันทร์เจริญ. ผู้อำนวยการกองการอนุญาต กรมป่าไม้, นายศักดา มณีวงศ์. ผู้อำนวยการสำนักจัดการที่ดินป่าไม้ กรมป่าไม้, นายวิจารณ์ เสนสกุล. นิติกรชำนาญการพิเศษ กรมป่าไม้, พร้อมเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ และเจ้าหน้าที่จัดการทรัพยา กรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง), เจ้าหน้าที่ป่าไม้พื้นที่อุตรดิตถ์ 9 อำเภอ ตั้งโต๊ะชี้แจงทำความเข้าใจถึงการยื่นคำขอใช้ที่ดินกับกรมป่าไม้ การติดตามคำขอหลังจากยื่นเรื่องแล้ว ข้อระเบียบและกฏเกณฑ์ต่างๆที่อนุญาตได้และไม่สามารถอนุญาตได้ การอนุญาตโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อนุญาตโดยอธิบดีกรมป่าไม้และอนุญาตโดยผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่3 (ลำปาง) รวมถึงการยื่นคำขอสามารถยื่นผ่านผู้อำนวยการศูนย์ป่าไม้อุตรดิตถ์ได้ทันที และการยื่นคำขอผ่านระบบแอพพลิเคชั่นไลน์

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การจัดการประชุมครั้งนี้ สืบเนื่องจาก นางสาวกฤษณา นายวารุจและนายรวี ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย ทั้ง 3 คน ร่วมกันประสานงานกับ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอให้มีนำบุคคลากรระดับผู้บริหารอธิบดีกรมป่าไม้ รองอธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมเจ้าหน้าที่ส่วนที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อนำร่องจัดให้มีการประชุมเร่งรัดติดตาม การขออนุญาตเข้าทำประโยชน์พื้นที่ป่าไม้ ในเขตป่าป่าไม้ถาวร ป่าสงวนแห่งชาติและในเขตป่า2484 รวมถึงความคืบหน้าคำขอการขออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (ค.ท.ช.) ให้แก่ส่วนราช การ หน่วยงานของรัฐ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนทั้ง 9 อำเภอ ในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อประโยชน์แก่ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการนำงบประมาณมาพัฒนาพื้นที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศ ชาติ เนื่องจากที่ผ่านมาหน่วยงานราชการและประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก หลังจากที่ได้มีการยื่นเอกสารประกอบคำขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ไปแล้วเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ได้รับการตอบรับรวมถึงความคืบหน้าแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (ค.ท.ช.) จังหวัดอุตรดิตถ์นั้น จากทั้งหมด 12 แห่ง ทางกรมป่าไม้ได้ดำเนินการอนุญาตแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 8 แห่ง และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 4 แห่ง ประกอบด้วย 1.พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าลำน้ำน่านฝั่งขวา พื้นที่ตำบลขุนฝาง อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ตำบลนาง พญา ตำบลน้ำหมัน ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา ตามคำขอ เนื้อที่ 8,688 ไร่ 2 งาน 8 ตารางวา ได้รับอนุญาตแล้ว, 2.พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาใหญ่ ตำบลผักขวง อำเภอทองแสนขัน ตามคำขอ เนื้อที่ 447 ไร่ 3 งาน 61 ตารางวา อยู่ระหว่างขอข้อมูลเพิ่มเติม ตามหนังสือกรมป่าไม้ ด่วนที่สุด ที่ ทส 1602.42/19178-19179 ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2566, 3.ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าจริม ตำบลท่าแฝก อำเภอน้ำปาด เนื้อที่ 12,815 ไร่ 3 งาน 50 ตารางวา  ได้รับอนุญาตแล้ว, 4.ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าห้วยช้างและป่าปู่เจ้า ตำบลชัยจุมพล ตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล เนื้อที่ 332  ไร่ 2 งาน  62 ตารางวา ได้รับอนุญาตแล้ว 5.ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าน้ำปาด ตำบลห้วยมุ่น อำเภอน้ำปาด เนื้อที่ 11,652 ไร่ 5 ตารางวา ได้รับอนุญาตแล้ว 6.ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองตรอนฝั่งขวา ตำบลบ่อทอง ตำบลป่าคาย อำเภอทอแสนขัน ตำบลน้ำอ่าง  อำเภอตรอน, เนื้อที่ 3,285 ไร่ 1 งาน 59 ตารางวา ได้รับอนุญาตแล้ว 7.ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองตรอนฝั่งซ้าย ตำบลน้ำพี้ อำเภอทองแสนขัน ตำบลน้ำไคร้, ตำบลน้ำไผ่อำเภอน้ำปาด เนื้อที่ 1,730 ไร่ 2 งาน 44 ตารางวา อยู่ระหว่างขอข้อมูลเพิ่มเติม ตามหนังสือกรมป่าไม้ ด่วนที่สุด ที่ ทส 1602.42/19178-19179 ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2566, 8.ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงช้างดี ตำบลวังแดง ตำบลน้ำอ่าง อำเภอตรอน เนื้อที่ 348 ไร่ 1 งาน 81 ตารางวา อยู่ระหว่างขอข้อมูลเพิ่ม เติม ตามหนังสือกรมป่าไม้ ด่วนที่สุด ที่ ทส 1602.42/19178-19179 ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2566, 9.ป่าสงวนแห่งชาติ ป่านาอิน-นายาง ตำบลนายาง อำเภอพิชัย เนื้อที่ 36 ไร่ 6 ตารางวา อนุญาตแล้ว, 10.ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าน้ำปาด ตำบลบ้านฝาย ตำบลน้ำไคร้ ตำบลแสนตอ ตำบลห้วยมุ่น ตำบลน้ำไผ่ อำเภอน้ำปาด, ตำบลฟากท่า ตำบลสองห้อง อำเภอฟากท่า, ตำบลบ้านโคก ตำบลบ่อเบี้ย ตำบลนาขุม ตำบลม่วงเจ็ดต้น อำเภอบ้านโคก เนื้อที่ 14,121 ไร่ 3 งาน  29 ตารางวา อยู่ระหว่างขอข้อมูลเพิ่มเติม ตามหนังสือกรมป่าไม้ ด่วนที่สุด ที่ ทส 1602.42/19178-19179 ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2566, 11.ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าปากห้วยฉลอง และป่าห้วยสีเสียด ตำบลหาดงิ้ว อำเภอเมืองอุตรดิตถ์, ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา  เนื้อที่  523 ไร่ 3 งาน 38 ตารางวา ได้รับอนุญาตแล้ว, 12.ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าห้วยเกียงพา ตำบลงิ้วงาม ป่าน้ำไคร้ ตำบลบ้านด่านนาขาม อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ พื้นที่ 2,065 ไร่ 2 งาน 16 ตารางวา ได้รับอนุญาตแล้ว

นายสุพจน์ รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ส.ส.อุตรดิตถ์ ทั้ง 3 ท่าน พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ มีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ อยากให้อธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ลงมาชี้แจงทำความเข้าใจกับส่วนราชการ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้ยื่นคำขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้ถาวร ป่าสงวนแห่งชาติและป่าไม้ 2484 เพื่อขอทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ตามมติคณะรัฐมนตรีหรือ ค.ร.ม.23 มิถุนายน 2563 และ 11 พฤษภาคม 2564 จังหวัดอุตรดิตถ์มีคำขอของส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งสิ้นกว่า 1,600 คำขอ ทางกรมป่าไม้ได้จัดเจ้าหน้าที่ทั้งจากส่วนกลาง กรมป่าไม้ พร้อมสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่3 ลำปาง ศูนย์ป่าไม้อุตรดิตถ์ ร่วมชี้แจงทำความเข้าใจ ในเอกสารประกอบคำขอทุกอย่างให้กับส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ได้รับทราบ ทำให้งานเดินได้อย่างรวดเร็ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ประกอบกับในปีงบประมาณ 2568 ซึ่งผ่านที่ประชุมวาระ2 และวาระ3 ไปแล้ว จะได้นำมาใช้ในการพัฒนาพื้นที่ทั้งการดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมสาธารณูปโภคต่างๆในพื้นที่ได้

 

รวมถึงพื้นที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (ค.ท.ช.) ตามกรอบมติ คณะรัฐมนตรีหรือ ค.ร.ม. 26 พฤศจิกาบน 2561 ในพื้นที่ 9 อำเภอของจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ทำการเกษตรหลากหลายชนิด อาทิ ทุเรียน เข้าอยู่โดยไม่ได้รับรองการอยู่อาศัยและทำกิน ในส่วนนี้ทางกรมป่าไม้จะเร่งรัดดำเนินการตรวจสอบพร้อมรับรองสิทธิ์การอยู่อาศัยให้กับประชาชนให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล

นายสุพจน์  กล่าวว่า วันนี้ได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องคำขอใช้พื้นที่กับส่วนราชการต่างๆ จะเร่งรีบดำเนินการตามคำขอที่ไม่ติดระเบียบกฎหมายที่เยอะเกินไป ประกอบกับทางอธิบดีกรมป่าไม้ ได้มอบอำนาจส่วนหนึ่งในเรื่องของป่าไม้ตาม พ.ร.บ.2484 ให้กับสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่3 ลำปาง พิจารณาอนุญาตได้ทันที โดยไม่จำกัดจำนวนเฉพาะส่วนราชการ พร้อมสั่งให้ใช้มาตรา 19 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการสำรวจการอยู่อาศัยและการทำกินของพี่น้องประชาชนในท้องที่อำเภอต่างๆในจังหวัดอุตรดิตถ์ด้วย

นายสุพจน์  กล่าวด้วยว่า ในส่วนของพื้นที่อำเภอลับแล ซึ่งเป็นพื้นที่สวนเกษตรผลไม้ เรื่อง ค.ท.ช.อยู่ระหว่างดำเนินการและจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้เกิดความสบายใจในเรื่องของการอยู่อาศัยและการทำกินในพื้นที่ป่า ซึ่งได้รับการผ่อนผันให้อยู่อาศัยแล้ว ประชาชนจะต้องได้รับการรับรองสิทธิ์การอยู่อาศัยโดยเป็นเอกสารที่ถูกต้องชัดเจน

เมื่อทางกรมป่าไม้อนุญาตคำขอให้กับส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ก็สามารถที่จะเข้าไปดำเนินการตั้งงบประมาณเพื่อไปบำรุงดูแลรักษาได้โดยถูกต้องตามกฏหมาย หลังจากนั้นพี่น้องประชาชนจะได้รับประโยชน์ในเรื่องสาธารณูปโภค น้ำประปา ไฟฟ้า แหล่งน้ำ เส้นทางถนน เมื่อทางกรมป่าไม้อนุญาตแล้ว หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้ตั้งงบประมาณมาเพื่อบำรุงรักษาสามารถนำงบเข้าไปพัฒนาในพื้นที่ได้เลย  รวมถึงพื้นที่ของวัด ที่พักสงฆ์ สำนักสงฆ์ ที่สร้างสำหรับเป็นของส่วนกลางและเป็นผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน ส่วนหน่วยงานที่รับผิด ชอบสามารถที่จะดำเนินการได้ถูกต้องตามกฏหมาย อยากฝากบอกพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ไม่ต้องเป็นห่วงในเรื่องของการขอใช้ที่พื้นป่าไม้ วันนี้อธิบดีกรมป่าไม้ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์  ส.ส.อุตรดิตถ์ทั้ง 3 เขต ได้ลงมาทำความเข้าใจกับส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ประสานกับ ส.ส.ในพื้นที่ติดตามเรื่องการขอใช้ที่ดินป่าไม้ ซึ่งทางกรมป่าไม้ก็ได้ลงมาชี้แจงให้กับส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับทราบในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกรมป่าไม้ ให้ได้รับทราบแล้วและนำไปบอกกล่าวกับประชาชนในพื้นที่

นายวารุจ  ส.ส.อุตรดิตถ์ เขต2 กล่าวว่า จากการประสานงานของ ส.ส.อุตรดิตถ์ ทั้ง 3 คน ได้ประ สานกับส่วนที่เกี่ยวข้อง เรื่องปัญหาการขอใช้ที่ดินในพื้นที่กรมป่าไม้ ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากอธิบดีกรมป่าไม้พร้อมทีมงาน จัดอบรมให้ความรู้กับหน่วยงานราชการในจังหวัดอุตรดิตถ์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับเทศบาล และระดับ อ.บ.ต. ทั้ง 9 อำเภอ ถึงขั้นตอนวิธีการพร้อมแนวทางในการขอใช้พื้นที่ให้กับผู้บริหารท้องถิ่น นายกและรองนายกได้รับทราบถึงภาพรวมทั้งหมด มีการตั้งโต๊ะแยกรายตามอำเภอ รับปัญหาเกี่ยวกับคำขอใช้พื้นที่ของกรมป่าไม้ ซึ่งบางแห่งมีงบประมาณแล้วไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากติดขัดขั้นตอนการขออนุญาตจากกรมป่าไม้ วันนี้ได้รับคำชี้แจงแนะนำจากเจ้าหน้าที่ เพื่อตรวจสอบเอกสารให้ถูกต้องครบถ้วนทั้ง 9 อำเภอ จะได้นำงบสร้างหรือปรับปรุงซ่อมแซมในพื้นที่ป่าไม้ ตามมติคณะรัฐมนตรีหรือ ค.ร.ม.และตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ และป่าไม้ถาวร ตามเอกสารเจ้าหน้าที่ชี้แจงให้ดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ เป็นการตรวจสอบเอกสารในแต่ละขั้นตอนที่ผ่านแล้ว หากติดขัดเจ้าหน้าที่จะแจ้งบอกว่าติดขัดตรงไหน ก็จะได้รับคำชี้แนะดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องเพื่อนำมาเสนอใหม่ เพื่อง่ายต่อการเสนอในครั้งต่อไป การให้คำแนะนำนี้เป็นการลดขั้นตอนของระบบหนังสือทางราชการได้มาก กรณีหนังสือออกจากจังหวัดกว่าจะไปถึงสำนักงานจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) ใช้เวลานานนับเดือน และยังต้องส่งเข้ากรมป่าไม้อีกเป็นเดือน รวมถึงหนังสือที่ส่งกลับมาในพื้นที่อีกหลายเดือน การจัดการอบรมให้ความรู้ในครั้งนี้ เป็นการลดขั้นตอนหลายอย่างให้กับส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 9 อำเภอ.

Facebook Comments Box

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า