Getting your Trinity Audio player ready...

จังหวัดอุตรดิตถ์เอาจริง! ออกประกาศคุมเข้ม หมอกควันไฟป่าและเผาเหลือใช้จากการเกษตรในที่โล่งแจ้ง สร้างมลพิษสิ่งแวดล้อมทางอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มีโทษทั้งจำคุกและปรับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกท้องถิ่น ผู้บริหารและชาวบ้านต้องช่วยกันสอดส่องดูแล สะท้อนกลับจังหวัด “ห้ามแต่หมอกควันไฟป่า แล้วควันโรงงานจะดูแลยังไง”

เมื่อเร็วๆนี้ นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นประธานการประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ปี 2566 – 2567 จังหวัดอุตรดิตถ์ครั้งที่ 1 ณ ห้องประชุมศิลาอาสน์ ชั้น5 ศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมีหน่วยงานราชการระดับจังหวัดและอำเภอเข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ประชาสัมพันธ์จังหวัด ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ประชาสัมพันธ์จังหวัด สำนักงานจังหวัด ตัวแทนจากอำเภอทั้ง 9 แห่ง ตัวแทนจากทหาร ตำรวจ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

ที่ประชุมได้พูดถึงสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มลพิษที่สร้างปัญหาต่อสุขภาพร่างกายของทุกคน โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งมักเกิดปัญหาไฟป่าขึ้นเป็นประจำทุกปี สาเหตุมาจากการเก็บหาของป่า การล่าสัตว์ การเผาตอซังข้าวหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวในนาแล้ว การกำจัดวัชพืชในที่ดินของเกษตรกรทั่วไปและพื้นที่ติดกับป่า เพื่อเตรียมการเพาะ ปลูกด้วยการจุดไฟเผาและไม่มีการควบคุมทำให้เกิดไฟไหม้ลุกลามไปทั่ว รวมถึงลุกลามเข้าไปในป่าจนกลายเป็นไฟป่า หรือเกิดจากการคึกคะนองจุดไฟเผาป่า สร้างความเสียหายต่อธรรมชาติในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่าและพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ทำความเสียหายต่อทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าเป็นจำนวนมหาศาล ทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณในการระดมกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ ในการเข้าควบคุมไฟป่า นอกจากนี้ หมอกควันจากไฟป่าและควันไฟจากการเผาไหม้ตอซังข้าวและวัชพืช ยังกลายเป็นมลพิษทางอากาศมีผลเสียต่อสุขภาพร่างกายต่อมนุษย์ด้วย

ทางจังหวัดอุตรดิตถ์จึงได้ออกประกาศจังหวัดอุตรดิตถ์ เรื่อง การงดเว้นการเผาเด็ดขาด การเฝ้าระวังและการสนับสนุนการดำเนินการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในท้องที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ประ จำปี พ.ศ. 2567 ด้วยสถานการณ์ในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนเมษายนของทุกปี จะมีมลพิษหมอกควันปกคลุมจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากไฟป่า กิจกรรมการเผาวัสดุทางการเกษตรและการเผาในพื้นที่โล่งกว้างอื่นๆ ซึ่งมีผลกระทบและเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ตลอดจนมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจการท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่ง ประกอบกับสภาวะทางธรรมชาติของโลกมีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงปรากฎการณ์ภาวะโลกร้อน ที่มีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลทางธรรมชาติในด้านต่างๆ ทำให้ประชาชนเกิดความเดือดร้อนในการดำรงชีวิต ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายจากสถานการณ์ดังกล่าว จังหวัดอุตรดิตถ์จึงขอความร่วมมือมายังทุกท่านโปรดช่วยกันเฝ้าระวัง สนับสนุนการดำเนินการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)

ในท้องที่จังหวัดอุตรดิตถ์อาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ตามมาตรา 15 และมาตรา 29 จึงกำหนดให้พื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็น “เขตการงดเว้นการเผาเด็ดขาด” และกำหนดมาตรการในการป้องกันไฟป่าขึ้นไว้ ดังนี้ 1.งดเว้นการเผาป่า เผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เผาขยะ และเผาวัชพืชข้างทาง เผาในพื้นที่โล่งแจ้งทุกกรณี เป็นระยะเวลา 90 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2567 โดยเด็ดขาด 2.ผู้ใดฝาฝืนจุดไฟเผาป่าหรือเผาในที่โล่งพื้นที่ต่างๆ มีความผิดตามกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 รวมทั้งเทศบัญญัติ หรือข้อบัญญัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ละแห่งที่ได้กำหนดไว้โดยมีบทกำหนดโทษ ตามกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ทุกพื้นที่ดำเนินการจัดการเชื้อเพลิงให้แล้วเสร็จ ก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567

หากมีความจำเป็นต้องเผาไร่และวัชพืชในที่ทำกิน ให้ราษฎรผู้ครอบครองที่ดินดังกล่าวแจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในเขตปกครองท้องที่นั้นๆ ก่อนที่จะดำเนินการเผาไร่และวัชพืช อีกทั้งต้องจัดทำแนวกันไฟและควบคุมมิให้ไฟลุกลามไปยังพื้นที่อื่นๆได้ โดยให้ประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ หรือหน่วยงานสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อจัดเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำในการดำเนินการดังกล่าวด้วย หากราษฎรผู้ใดไม่แจ้งต่อกำนันหรือผู้ใหญ่ บ้าน หรือแจ้งแล้วแต่ไม่จัดทำแนวกันไฟและมิได้ควบคุมไฟให้อยู่ในพื้นที่ที่ตนถือครอง จนเป็นเหตุให้ไฟลุกลามไหม้ป่า ให้กำนันหรือผู้ใหญ่ นายอำเภอท้องที่ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายแก่ราษฎรที่ฝ่าฝืน หรือปล่อยปะละเลยโดยเฉียบขาดทุกรายโดยเฉพาะราษฎรที่บุกรุกเข้าไปแผ้วถางป่าในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตป่าสงวนแห่งชาติ รวมถึงราษฎรที่ได้รับสิทธิทำกินในโครงการจัดที่ดินทำกินให้กับชุมชนตามนโยบายของรัฐบาล (คทช.)

จังหวัดจะพิจารณาใช้นโยบายอพยพราษฎรผู้บุกรุกพื้นที่ดังกล่าวออกจากป่าตามที่เห็นสมควร และจะดำเนินคดีตามความผิดที่เกิดขึ้น 5. การจุดไฟเผาป่าหรือปล่อยให้ไฟลุกลามเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตปาสงวนแห่งชาติ มีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 200,000 บาท และเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 กระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆ แม้จะเป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นของบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 14,000 บาท 6.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนันและแพทย์ประจำตำบล ให้ถือเป็นหน้าที่ต้องสอดส่องดูแลให้ประชาชนในท้องที่ปฏิบัติตามประกาศอย่างเข้มงวด 7.นายอำเภอในท้องที่ ให้ประกาศขี้แจงกำชับในที่ประชุมประจำเดือนของอำเภอทุกครั้งรวมทั้ง กำนันและผู้ใหญ่บ้านให้ทำการประชาสัมพันธ์เสียงตามสายประจำตำบลและหมูบ้าน ให้ประชาชนโดยทั่วไปได้รับทราบอย่างทั่วถึง เพื่อให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้ ทั้งนี้ เพื่อให้การควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในท้องที่จังหวัดอุตรดิตถ์ บังเกิดผลอย่างจริงจัง 8. ให้หน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการควบคุมไฟป่าทุกแห่ง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ให้การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์และงบประมาณในการดำเนินงานด้านการป้องกันและควบคุมไฟป่าของแต่ละตำบลและหมู่บ้าน โดยเน้นให้ราษฎรในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการอย่างถูกวิธีตามภูมิปัญญาท้องถิ่น

9.ราษฎรต้องให้ความร่วมมือในการเฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้เกิดไฟป่าและหากพบเห็นเกิดไฟป่าเกิดขึ้น ณ บริเวณใด ราษฎรต้องให้ความร่วมมือช่วยกันดับไฟในเบื้องตันทันที เพื่อไม่ให้ไฟขยายเป็นวงกว้าง และหากสถานการณ์ไฟป่ารุนแรงไม่สามารถดับได้ ให้รีบแจ้งคณะกรรมการควบคุมไฟป่าประจำหมู่บ้าน หรือศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับตำบล ซึ่งตั้งอยู่ ณ เทศบาลตำบล/องค์การบริหารส่วนตำบล หรือศูนย์อำนวยการฯ ระดับอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือหน่วยควบคุมไฟป่าในพื้นที่ที่อยู่ใกล้ที่สุด ลงนามประกาศโดยผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางจังหวัดอุตรดิตถ์ ยังได้ประกาศจังหวัดอุตรดิตถ์ เรื่อง กำหนดเขตควบคุมไฟป่าและการเผาในที่โล่งในท้องที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ประจำปี พ.ศ.2567 ด้วยปรากฏว่าในช่วงฤดูแล้ง มักจะเกิดปัญหาไฟป่าขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งสาเหตุสำคัญประการหนึ่งเกิดจากการเก็บหาของป่า ล่าสัตว์ เผาไร่ และการกำจัดวัชพืช ในที่ดินที่ทำกินของเกษตรกรที่อยู่ใกล้พื้นที่ป่า เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก โดยเมื่อมีการจุดไฟแล้วไม่มีการควบคุม จนทำให้ไฟไหม้ลุกลามเข้าไปในป่าจนกลายเป็น ไฟป่า หรือเกิดจากความคึกคะนองจุดไฟเผาป่า เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ทำความเสียหายแก่ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าเป็นจำนวนมหาศาล ทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณเป็นจำนวนมากในการระดมกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องมือ เครื่องใช้ และยานพาหนะในการ เข้าระงับดับไฟ ดังนั้น เพื่อเป็นการระงับและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายจากไฟป่าดังกล่าว อีกทั้งให้ราษฎรได้มีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าจังหวัดอุตรดิตถ์จึงได้จัดทำประกาศกำหนดเขตควบคุมไฟป่า และการเผาในที่โล่งแจ้งขึ้นอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ตามมาตรา 15,17 และ 22 จึงกำหนดให้พื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็น “เขตควบคุมไฟป่า” และกำหนดมาตรการในการป้องกันไฟป่าขึ้นไว้ ดังนี้ภายในพื้นที่เขตควบคุมไฟป่า 1.นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 หากราษฎรมีความจำเป็นต้องเผาวัชพืช ซึ่งอยู่ในที่ดินทำกิน ในเขตพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ ที่ได้รับการผ่อนผันหรือแก้ไขปัญหาตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่มิถุนายน 2541 ให้ราษฎรผู้ถือครองที่ ดินดังกล่าว จัดทำแนวกันไฟ พร้อมแจ้งผู้ใหญ่บ้าน หรือกำนันในพื้นที่ เพื่อประสานขอกำลังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหรือประสานกับสถานีควบคุมไฟป่าในพื้นที่หรือหน่วยควบคุมไฟป่าที่ใกล้เคียง เพื่อจัดเจ้าหน้าที่คอยควบคุมไฟมิให้ลุกลามเข้าไปยังพื้นที่อื่น ๆ โดยเด็ดขาด

หากมีผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามและไฟลุกลามเข้าไปในเขตพื้นที่ป่าไม้เขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ผู้กระทำความผิดต้องถูกระวางโทษทั้งจำทั้งปรับตามกฎหมาย 2.การจุดไฟเผาป่า และ/หรือ ปล่อยให้ไฟลุกลามเข้าไปยังพื้นที่ที่มีการหวงห้ามตามกฎหมายจะมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ ดังนี้ 2.1 เขตพื้นที่ป่าไม้ มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 72 ตรี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีบุคคลเผาป่าเป็นเนื้อที่เกิน 25 ไร่ ต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ 2 ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 100,000 บาท 2.2เขตป่าสงวนแห่งชาติ มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 31 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท 2.3 เขตอุทยานแห่งชาติ มีความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 41 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 20 ปี หรือปรับตั้งแต่ 40,0000 บาท ถึง 2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.3 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มีความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 มาตรา 99 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 20 ปี หรือปรับตั้งแต่ 400,000 บาท ถึง 2,000,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ 2.5 เขตห้ามล่าสัตว์ป่า มีความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 มาตรา 103 ต้องระลางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 700,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้การกระทำดังกล่าวอาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 ฐาน “ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใด ๆ แม้จะเป็นของตนเองจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,00 บาท” 3. ในเขตควบคุมไฟป่า ราษฎรต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการดับไฟป่า และหากพบเห็นไฟไหม้ป่าในพื้นที่ป่าไม้ ให้รีบช่วยกันดับไฟเสียแต่ต้น เพื่อไม่ให้ไฟลุกลามขยายเป็นวงกว้างยากแก่การควบคุมหากไฟป่ารุนแรงไม่สามารถดำเนินการดับได้โดยลำพัง ให้รีบแจ้งผู้อำนวยการส่วนควบคุมและปฏิบัติการไฟป่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นทุกแห่งให้ถือเป็นหน้าที่ต้องคอยสอดส่องดูแลให้ประชาชนในท้องที่รับผิดชอบปฏิบัติตามประกาศนี้อย่างเข้มงวด ลงนามประกาศโดยผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมาเช่นกัน

 

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ขณะเดียวกันมีชาวบ้านพบเห็นโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งในพื้นที่ตำบลผาจุก อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ มีการปล่อยควันและเศษฝุ่นละอองออกจากปล่องโรงงาน จากการเผาไหม้วัตถุดิบพืชไร่ ก่อให้เกิดมลพิษต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ตำบลผาจุกและพื้นที่ตำบลใกล้เคียง ร้องขอให้ทางจังหวัดอุตรดิตถ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยลงตรวจสอบควันและเศษฝุ่นละอองที่ถูกออกมาจากปล่องโรงงาน พร้อมทั้งให้มีการควบคุมฝุ่นละอองจากเศษเผาไหม้ของพืชไร่ด้วย และควบคุมดูแลทั้งระบบ เพื่อไม่ให้เกิดมลพิษทางอากาศและสุขภาพต่อคนทั่วไป

“ผู้นำท้องถิ่นหลายคนได้ติดตามข่าวสารทราบว่า จังหวัดอุตรดิตถ์มีการออกประกาศจังหวัดควบคุมเรื่องมลพิษจากหมอกควันไฟป่าและการเผาไหม้ ที่ก่อให้เกิดหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เป็นการควบคุมและออกประกาศเฉพาะไฟป่าและการเผาไหม้ที่เกิดจากชาวบ้าน แล้วในส่วนของโรงงานแห่งนี้ รวมถึงพื้นที่โรงงานอื่น ทางจังหวัดอุตรดิตถ์มีมาตรการในการควบคุมหมอกควันไฟป่า แล้วหมอกควันโรงงานจะดูแลยังไง”.

ขอบคุณภาพ..ที่ประชุมฯ จาก ปชส.อุตรดิตถ์ และ ทสจ.อุตรดิตถ์

Facebook Comments Box

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า